‘อยู่ร่วม เพื่อ อยู่รอด’ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษาแม่ฮ่องสอนจัดโครงการสอนทำขนมจากวัตถุดิบในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนรายได้
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือหน่วยงานที่มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนบนพื้นที่สูง มาอย่างยาวนาน ทั้งมีการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยใช้วิถีชีวิตของชุมชนเป็นฐาน
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงก็ได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตดั่งเดิมของกลุ่มชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกที่ทำให้คนกลุ่มนี้ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี หรือความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เองเช่น ป่าที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ น้ำในลำห้วยที่น้อยลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลง อาหารการกินที่เคยมีก็ร่อยหรอ คนรุ่นใหม่ในชุมชนจึงต้องเดินออกจากบ้านของตัวเอง เพื่อไปเป็นแรงงานรายได้น้อยในตัวเมือง ในที่สุดชุมชนก็ขาดกำลังคนในการผลิต การจัดการทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เท่าทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดแนวคิดที่จะสร้าง ‘ผู้ประกอบการรุ่นใหม่’ ขึ้นมาในชุมชน เพราะพื้นที่แห่งนี้แท้จริงก็ยังมีต้นทุนทางธรรมชาติอีกมากมายหากเกิดการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งหากคนในชุมชนมีทักษะความรู้ที่เพียงพอ ก็จะสามารถดึงเอาต้นทุนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้ไปหาพันธมิตรในการก่อร่างโครงการอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน สถาบันคลังสมองของชาติ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยใช้สังคม อีกหลากหลายสถาบัน เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มให้เกิดความแข็งแรง ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและเครือข่ายในการสร้างอาชีพจนเกิดเป็นโครงการ ‘พัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน’ โดยในช่วงแรกของโครงการจะเน้นการอบรม ‘การผลิตคุกกี้จากแป้งกล้วย’ เนื่องจากเป็นต้นทุนทางวัตถุดิบที่ชุมชนมีอยู่แล้ว
พื้นที่การดำเนินงานของโครงการครอบคลุมถึง 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านโตแฮ บ้านห้วยกระต่าย และบ้านแม่ลามาน้อย โดยโครงการจะทำการคัดเลือกกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่เป็นเยาวชนจำนวน 15 คน และสมาชิกในครอบครัวเยาวชนนั้นอีกครอบครัวละ 10 คน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 150 คน ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกคือทุกคนจะต้องเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือเป็นกลุ่มผู้ถือสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกฝนอบรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือการเตรียมวัตดุดิบที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตแป้งจากกล้วย ผลิตวัตถุดิบจากพืชไร่ ไปจนถึงการทำขนมคุกกี้จากวัตถุดิบในชุมชน มีการอบรมการผลิตห่อบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ และการทำตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าออกไปในหลายๆ ช่องทาง
นอกจากการอบรมเชิงทักษะอาชีพแล้ว โครงการยังมีการส่งเสริมทัศนคติที่เข้มข้น เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไปพร้อมๆ กัน ภายใต้คำขวัญ ‘อยู่ร่วม เพื่อ อยู่รอด’ ซึ่งโครงการจะมีการสร้างระบบสวัสดิการจากผลประกอบการของกลุ่ม เพื่อสนับสนุนความต้องการของแต่ละครอบครัวให้มีเพียงพอและแข็งแรง เช่น การรักษาพยาบาล เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อปลดหนี้ หรือรถยนต์สวัสดิการที่ใช้สำหรับสัญจร
โครงการพัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้ สะท้อนให้เราได้เห็นว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับทักษะอาชีพของคนในชุมชน คือ สำนึกร่วมที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะเมื่อชุมชนเกิดความสามัคคีกันในกลุ่ม ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ก็จะถูกฝ่าฟันไปได้อย่างไม่ยากเย็น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
แรงงานที่ขาดโอกาสในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลามาน้อย สามารถพัฒนาการประกอบการจากศักยภาพทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมได้ “ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้ สุขภาพดี”