ชุมชนตำบลท่าสายผลักดันการเลี้ยงไก่ไข่และตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง เป็นอาชีพเสริมใหม่ สู้สถานการณ์โควิด-19

เชียงราย เกษตรกรรม

ชุมชนตำบลท่าสาย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูง มีเทือกเขาดอยปุยทอดผ่าน มีป่าไม้ธรรมชาติขึ้นตามแนวภูเขา และมีแม่น้ำลาวไหลผ่าน ซึ่งเอื้อต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ในขณะที่อีกร้อยละ 45 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และอีกร้อยละ 35 ประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ และรัฐวิสาหกิจ 

ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งสิ้น จากมาตรการปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถประกอบอาชีพหรือหารายได้ตามปกติ ทำให้รายได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว 

ด้วยสาเหตุนี้ ชุมชนตำบลท่าสายจึงเกิดความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาอาชีพด้านอื่นเพิ่มเติม ซึ่งต้องเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ในครัวเรือน และลดการสัมผัสเชื้อไวรัส

มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน ด้านการส่งเสริมบทบาทในการมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เด็กเล็กก่อนวัย และผู้ด้อยโอกาส มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เล็งเห็นว่าชุมชนตำบลท่าสายมีทักษะด้านเกษตรกรรมขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว อีกทั้งกลุ่มสตรีในพื้นที่ยังมีทักษะการตัดเย็บติดตัว จึงเข้ามาช่วยพัฒนาอาชีพเสริมในสองลักษณะ ได้แก่ การเลี้ยงไก่ไข่และการตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง ซึ่งอาชีพทั้งสองลักษณะเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ในครัวเรือน โดยจะช่วยให้ประชากรในชุมชนมีรายได้ทดแทน และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป 

โดยกลุ่มเป้าหมายที่มูลนิธิฯ ตั้งไว้สำหรับโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภาวะโควิด-19 เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มี 75 คน มาจากพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ในชุมชนตำบลท่าสาย ได้แก่ หมู่ 4 บ้านแม่ลาว, หมู่ 9 บ้านเขื่อนแก้ว, หมู่ 10 บ้านห้วยฮ้อม, หมู่ 11 บ้านเวียงคุ้ม, หมู่ 12 บ้านหัวดอยสันติ และหมู่ 13 บ้านเวียงกลาง

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยงานในเครือข่ายที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น จัดให้สำนักงานปศุสัตว์ สำนักเกษตร และวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงราย เข้ามาเสริมองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการเลี้ยงไก่ไข่ และการใช้ประโยชน์จากมูลไก่เป็นปุ๋ยชีวภาพ สำหรับบำรุงดินเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ให้สูญสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังจัดให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และศูนย์เรียนรู้พัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย เข้ามาเสริมองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง ให้มีรูปแบบร่วมสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการพัฒนาทักษะการตลาด ซึ่งได้บริษัทวาย.พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานธุรกิจเพื่อสังคม เข้ามาช่วยเสริมองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการตลาดและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้รู้เท่าทันกระแสของตลาดร่วมสมัย และใช้งานระบบตลาดออนไลน์เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย ซึ่งหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะเกิดเป็นกลุ่มอาชีพใหม่ในชุมชนตำบลท่าสาย และส่งผลให้ประชากรในชุมชนมีตัวเลือกด้านการประกอบอาชีพมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ 

มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือเล็งเห็นว่าชุมชนตำบลท่าสายมีทักษะด้านเกษตรกรรมขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว อีกทั้งกลุ่มสตรีในพื้นที่ยังมีทักษะการตัดเย็บติดตัว จึงเข้ามาช่วยพัฒนาอาชีพเสริมคือการเลี้ยงไก่ไข่และการตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภาวะโควิด-19 เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ชื่อหน่วยงาน

มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย

จังหวัด

เชียงราย

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวพนมวรรณ อยู่ดี
โทร: 081-8835741

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ที่มีความรู้และทักษะพัฒนาอาชีพเพิ่มขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว
  2. กลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารจัดการรายรับรายจ่าย มีภูมิคุ้มกันวิถีชีวิต พึ่งพาตนเองได้ ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันสถานการณ์
  3. กลุ่มเป้าหมายสามารถเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับสมาชิกในครอบครัว และสามารถจัดการปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชนได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส