มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นอินทรีย์ ฝ่าข้อจำกัดการประมง

ตรัง เกษตรกรรม

หากพูดถึงการเริ่มต้นอาชีพประมงที่ใช้ต้นทุนน้อยคงหนีไม่พ้น การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ เนื่องจากเลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตไวและต่อเนื่อง หรือ การเลี้ยงหอยนางรมและหอยแมลงภู่ ซึ่งไม่ต้องลงทุนเรื่องค่าอาหาร เนื่องจากหอยทั้งสองชนิดจะกรองกินอาหารในแหล่งน้ำที่เลี้ยงได้เอง ดังนั้นการเพาะเลี้ยงทั้งสามอย่างจึงสามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะกับชาวประมงชายฝั่งทะเลที่ไม่สามารถทำการประมงได้ในฤดูมรสุมที่เกิดฝนฟ้าคะนองและมีคลื่นลมแรง

ตำบลเกาะลิบง ตำบลเขาไม้แก้ว ตำบลบ่อหิน และตำบลไม้ฝาด ตั้งอยู่ในจังหวัดตรังอยู่ติดทะเลอันดามัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง ค้าขายอาหารทะเล รองลงมาคือเป็นเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ดังนั้นเมื่อถึงฤดูมรสุมชาวประมงส่วนใหญ่จึงหมดโอกาสในการทำกินเพราะไม่สามารถออกเรือได้ กลายเป็นข้อจำกัดทางธรรมชาติ ประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทาง ปัจจัยต่างๆ จึงกระทำซ้ำเคราะห์ร้ายให้ชาวบ้านในชุมชนมองไม่เห็นหนทางในการหารายได้ 

‘โครงการการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่แรงงานที่ด้อยโอกาส พื้นที่ชายฝั่ง จังหวัดตรัง’ ภายใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จังหวัดตรัง) จึงเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนกลับมายืนบนลำแข้ง เลี้ยงชีพตัวเองได้อีกครั้งผ่านการทำประมงที่ใช้ต้นทุนต่ำอย่างการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ หรือ การเลี้ยงหอยนางรมและหอยแมลงภู่ 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และกลุ่มเยาวชนชายฝั่งจากโครงการเดิม เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มมีอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว ทั้งยังต่อยอดไปเป็นผู้ประกอบการ หรือกลายเป็นผู้นำเยาวชนในชุมชน สามารถเป็นปราชญ์ชุมชน มอบองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจต่อไป

โครงการฯ จึงได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อยกระดับลดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสและรายได้ ผ่านการวิเคราะห์และคำนึงถึงปลายทางของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม ระหว่างกลุ่มเยาวชนที่จำเป็นต้องนำองค์ความรู้กลับไปผู้นำเยาวชนเพื่อพัฒนาชุมชนและต่อยอดให้กับอีกหลาย ๆ คนที่เฝ้ารอ หรือ กลุ่มแรงงานเดิมที่มุ่งหวังอยากเป็นผู้ประกอบการ ทางโครงการฯ จึงมุ่งเน้นการอบรมผ่านการปฏิบัติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมและเกิดแรงบันดาลใจจากภายในสู่ภายนอก 

ถึงอย่างนั้น ภาคทฤษฎีก็ใช่ว่าจะไม่สำคัญหรือละทิ้งไปได้ ด้วยเหตุนี้ในการอบรมของโครงการฯ ทางหน่วยพัฒนาอาชีพจึงเลือกที่จะนำองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มาใช้ หรือหลักสูตรการอบรมจรรยาบรรณทางอาชีพประมงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นที่บ้านแหลมสัก จังหวัดกระบี่ และด้านการเพาะเลี้ยงหอยนางรมและหอยแมลงภู่ที่บ้านโคกไพร จังหวัดพังงา

เมื่อโครงการฯ ดำเนินไปจนถึงที่สุด ปลายทางที่โครงการฯ มุ่งหวังไม่ใช่แต่เพียงต้องการให้ชุมชนมีรายได้ ลดปัญหาการว่างงาน แม้ว่าจะเจอวิกฤติการณ์หรือข้อจำกัดทางธรรมชาติใดๆ แต่รวมถึงการที่ชุมชนสามารถก่อร่างสร้างฐานของชุมชนที่เข้มแข็งได้ด้วยตนเอง และสามารถกระจายรายได้ มอบองค์ความรู้ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับสู่ชุมชน 

เพราะเมื่อใดที่ชุมชนเข้มแข็งและเริ่มมีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอย่างครบวงจรได้สำเร็จ รายได้ก็จะกลับเข้าชุมชนและต่อยอดเพิ่มช่องทางการตลาดได้ในอนาคตภายหน้าอย่างแน่นอน

เพราะเมื่อใดที่ชุมชนเข้มแข็งและเริ่มมีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอย่างครบวงจรได้สำเร็จ รายได้ก็จะกลับเข้าชุมชนและต่อยอดเพิ่มช่องทางการตลาดได้ในอนาคตภายหน้า

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่แรงงานที่ด้อยโอกาส พื้นที่ชายฝั่ง จังหวัดตรัง

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง)

จังหวัด

ตรัง

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย
โทร: 08-6706-4579

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐานด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์การเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
  2. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์การเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
  3. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
  4. เยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอด จำนวน 20 คน สามารถเป็นผู้ช่วยวิทยากรหรือทีมพี่เลี้ยงในการจัดการอบรม ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส