ชาวหนองยาวร่วมมือร่วมใจ สร้างอาชีพเกษตรปลอดภัยเพื่อเป็นคลังอาหารชุมชน

นครสวรรค์ เกษตรกรรม

เกษตรปลอดภัย แนวคิดการทำเกษตรรูปแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน กล่าวคือ เมื่อเก็บเกี่ยวผลิตผลจากพวกนี้แล้วจะต้องไม่มีสารตกค้าง มีสภาพแวดล้อมที่ดีในการที่จะให้พืชและสัตว์เจริญเติบโต และพยามหลีกเลี่ยงการทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน แนวคิดการทำเกษตรปลอดภัยจึงมีความยั่งยืน ได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ผลิตในแง่ของการที่มีสุขภาพดีขึ้น และตัวผู้บริโภคที่ได้ทานของดีมีประโยชน์

การทำเกษตรปลอดภัย จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคยุคใหม่นี้

ตำบลหนองยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีความสนใจที่อยากจะพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาทำเกษตรในรูปแบบที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน ช่วยเหลือปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการใช้สารพิษในการทำเกษตร และปัญหาทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เนื่องจากชุมชนไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ไหลผ่านและไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ดังนั้นในเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ตำบลหนองยาวจึงเป็นแหล่งรับน้ำจากทุกที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมในทุกๆ ปี แต่เมื่อหน้าแล้งในพื้นที่ก็จะแห้งแล้งเป็นอย่างมาก ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของตำบล ขาดแคลนรายได้ เป็นหนี้เป็นสินและไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้ เนื่องจากไม่มีทักษะความรู้ที่มากพอ รวมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนในพื้นที่ยิ่งประสบปัญหาความยากจนทวีคุณขึ้นไปอีก

ในการพัฒนาคนในพื้นที่ครั้งนี้แกนนำในสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยาวที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนชุมชนได้ร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สตรี-เยาวชนบ้านดอนตะเคียน พื้นที่พัฒนาศักยภาพคน มุ่งเน้นการสร้างอาชีพแก้ไขปัญหาความยากจน จัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดภัยเพื่อสร้างคลังอาหารชุมชน ตำบลหนองยาว จังหวัดนครสวรรค์’ ที่เข้ามาช่วยในการพัฒนารายได้และการทำเกษตรปลอดภัยให้กับคนในชุมชน 

โดยในการจัดตั้งโครงการฯ ครั้งนี้ทำให้เกิดกิจกรรมเสริมทักษะมากมาย เช่น การจัดทำสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ทดแทนสารเคมี จากศูนย์เรียนรู้เกษตรวิถีธรรมชาติ จังหวัดนครสวรรค์ การจัดทำศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษ การแปรรูปไข่ไก่เพื่อหารายได้เพิ่มเติม จากกลุ่มวิสาหกิจเกษตรปลอดภัยตามวิถีพอเพียง เป็นต้น โดยที่โครงการฯ ได้เล็งเห็นจากศักยภาพที่ชุมชนมีโดยชุมชนบ้านหนองยาวได้เริ่มพัฒนาตนเองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 ที่ทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง โดยการค้นหาจุดเด่น จุดด้อยของชุมชน เพื่อนำมาเรียงลำดับปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข จากนั้นชุมชนก็มีการจัดตั้งกลุ่มสร้างอาชีพด้วยเงินทุนเริ่มต้นเพียง 500 บาท มีการทำโมเดลพอเพียงและโมเดลเพียงพึ่งพาขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีแกนยึดในการดำเนินชีวิต ทั้งยังมีการสนับสนุนให้ปลูกข้าวโภชนาการสูงในพื้นที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชุมชนบ้านหนองยาวก็ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีโครงการฯ เข้ามาเป็นกำลังเสริมที่จะนำพาให้คนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น

จากการดำเนินงานของโครงการฯ มีความมุ่งหวังว่าอยากให้พื้นที่ตำบลหนองยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรปลอดภัยขึ้น เพื่อเป็นแกนนำให้คนในชุมชนรุ่นต่อๆ ไปและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียงได้เช่นกัน 

นอกจากนี้โครงการฯ ยังหวังว่าชุมชนจะสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นคลังอาหารให้ตนเองได้ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ทานอาหารที่ดี มีคุณภาพ ทำให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บและเหลือพอที่จะส่งออกขายให้ผู้บริโภคเพื่อสร้างรายได้ 

หากความคาดหวังของโครงการฯ นี้เกิดขึ้นจริง ก็จะเป้นข้อพิสูจน์ได้ว่าชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีทักษะในการจัดการปัญหาหนี้สิ้นและเป็นที่พึ่งพาของผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ให้หลายเป็นผู้มีโอกาสได้

 

การทำโมเดลพอเพียงและโมเดลเพียงพึ่งพาขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีแกนยึดในการดำเนินชีวิต ทั้งยังมีการสนับสนุนให้ปลูกข้าวโภชนาการสูงในพื้นที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชุมชนบ้านหนองยาวก็ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีโครงการฯ เข้ามาเป็นกำลังเสริมที่จะนำพาให้คนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดภัยเพื่อสร้างคลังอาหารชุมชน ตำบลหนองยาว จังหวัดนครสวรรค์

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน

จังหวัด

นครสวรรค์

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางมานิตย์ ทองคำ
โทร: 08-9436-7008

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้สูงอายุ ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาส มีอาชีพเสริม สามารถลดรายจ่าย มีรายได้เพิ่มขึ้น
  2. คนในชุมชนสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  3. กลุ่มเครือข่ายผู้ทำเกษตรแบบปลอดภัย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส