ชุมชนผู้สูงอายุบ้านหนองหญ้าปล้อง ร่วมผลักดันการทำอาชีพเกษตรปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่น อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เพื่อเสริมสร้างรายได้ ดูแลสุขภาพ และกระชับความสัมพันธ์ในครัวเรือน
ชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 2 ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันเหมือนพี่น้อง ในอดีต จะเน้นการทำนาด้วยการพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งเรื่องน้ำและปัจจัยการผลิต ทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนปลอดภัย
ทว่า ในปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้สารเคมีในการทำนามากขึ้น ทำให้มีสารเคมีตกค้าง และมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ประกอบกับการที่คนวัยแรงงานนิยมออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้เหลือแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งทำนาเองไม่ไหว ต้องจ้างแรงงานจากภายนอกมาช่วย กลายเป็นภาระหนี้สะสม
ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้องมีปัญหาเรื้อรังใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ เนื่องจากมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง บางรายมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากต้องอยู่คนเดียว โดยไม่ได้รับความใส่ใจจากลูกหลาน ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ ด้านสังคม เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกไปนอกชุมชนตามลำพังได้ และด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีสารเคมีตกค้าง
แม้ว่าผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก กระนั้น ผู้สูงอายุหลายคนก็เรียนรู้ที่จะรวมกลุ่มกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น บางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ บางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อออกกำลังกาย ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองหญ้าปล้อง จังหวัดพิจิตร จึงเกิดแนวคิดซึ่งต่อยอดจากการรวมกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ออกมาเป็น “โครงการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุผ่านการทำอาชีพเกษตรปลอดภัย ของคนในชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งการเพิ่มรายได้ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และการมีสุขภาพดีผ่านการบริโภคผักปลอดสารพิษ ซึ่งคณะทำงานตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ที่จำนวน 65 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุจากพื้นที่ชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง
ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มต้นจากการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรกรรมโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งทุกกระบวนการจะต้องปลอดภัย พร้อมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวชิรอินทรีย์ ที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำด้านปัจจัยการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ได้แก่ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สารหมักชีวภาพไล่แมลง หรือการใช้สารหรือฮอร์โมนจากธรรมชาติในการเร่งการเจริญเติบโต เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุจึงต้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาหารที่ปลอดภัย ปราศจากอันตรายใด ๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมากำลังเป็นความต้องการของกระแสตลาดในปัจจุบันอยู่ขณะนี้ ดังนั้น โครงการฯ จึงไม่เพียงแค่จัดหลักสูตรอบรม แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยต่อยอดให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างผลผลิตทางเกษตรปลอดภัยได้สำเร็จ จนผลผลิตของพวกเขาได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย GAP ซึ่งการรับรองดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองอีกด้วย
ทั้งนี้ นอกจากโครงการฯ จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้สูงอายุแล้ว โครงการฯ นี้ยังผลักดันให้คนในครอบครัว ทั้งเด็ก เยาวชน และคนวัยแรงงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการระดมความคิดเห็น การอบรมเชิงปฏิบัติการในการปลูกผักให้ได้มาตรฐาน GAP การจัดทำบัญชีและการเก็บข้อมูล การเตรียมปัจจัยการผลิต และการจัดทำแปลงปลอดภัย ไปจนถึงการสร้างช่องทางการตลาดที่สามารถดำเนินการได้โดยผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างคนในครอบครัว ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการดำเนินโครงการฯ
“โครงการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุผ่านการทำอาชีพเกษตรปลอดภัย ของคนในชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งการเพิ่มรายได้ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และการมีสุขภาพดีผ่านการบริโภคผักปลอดสารพิษ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุผ่านการทำอาชีพเกษตรปลอดภัย ของคนในชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้การผลิตผักปลอดสารพิษ ทั้งเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่ปลูก การบริหารจัดการน้ำ การรวบรวมเมล็ดพันธุ์ผักพื้นถิ่น พันธุ์ผักในท้องตลาด การเตรียมปัจจัยการผลิต ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารหมักขับไล่แมลงจากพืชสมุนไพร ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เกิดการดูแลพืชผักที่ปลูก มีการจดบันทึกการเจริญเติบโตของผักที่ปลูก เพื่อให้มีการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย (GAP) จนถึงการจำหน่ายผักปลอดสารพิษในชุมชน
- เกิดการจัดตั้งคณะทำงาน เกิดการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีกฎกติกา มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ผู้สูงอายุมีทักษะการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายรายบุคคลและของกลุ่ม และมีการบริหารจัดการกลุ่มโดยมีการทำกิจกรรมร่วมกันทุกเดือน
- ได้รับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัย (GAP) และสามารถใช้เทคโนโลยี โดยลูกหลานของผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เกิดตลาดชุมชนที่มีการแลกเปลี่ยนผักปลอดภัยร่วมกัน