ชาวแม่ออน เชียงใหม่ สู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยการเรียนรู้ทักษะชีววิถีที่นำของเหลือใช้ภายในบ้านมาลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

เชียงใหม่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์

หากพูดถึงตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ หลายๆ คนอาจยังไม่คุ้นเคยสักเท่าไร แต่หากบอกชื่อสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระธาตุดอยผาตั้ง น้ำพุร้อนสันกำแพง ถ้ำเมืองออน น้ำตกแม่กำปอง และวังเย็น หลายคนคงจะคุ้นหูขึ้นมาทันที เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ด้วยพื้นที่โอบล้อมด้วยภูเขาสีเขียวขจีแสนรื่นรมย์

แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจหลาย ประเทศชะงักงัน สำหรับประเทศไทย แม้สถานการณ์จะไม่ได้รุนแรงเหมือนหลายๆ ประเทศ ถึงอย่างนั้นมาตรการล็อคดาวน์ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก และประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับชาวบ้านในตำบลทาเหนือเองที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จนรายได้ขาดหาย ด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้จากการประกอบอาชีพท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านเกิด และประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก 

“โควิด -19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ส่งผลให้ภาคการเกษตรในตำบลทาเหนือได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ผู้ทำงานรับจ้างในภาคการเกษตร หลายรายต้องต้องตกงาน สูญเสียรายได้ ครอบครัวเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น” หนึ่งในชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อธิบายถึงสภาพเศรษฐกิจของชุมชนในปัจจุบัน

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับความต้องการที่ต้องการสร้างแนวทางในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองจากทุนของชุมชน โรงเรียนสถาบันพัฒนาการศึกษาและอาชีพ ภายใต้ สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน ชุมชน สังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อนำไปประกอบอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายทุกระดับ จึงได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อจัดอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกร ผู้ถูกเลิกจ้างงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก 5 หมู่บ้านในตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 70 คน ในโครงการส่งเสริมทักษะชีววิถีสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

จากผลกระทบที่กลุ่มเป้าหมายเผชิญ ทางโครงการจึงได้ออกแบบและจัดอบรมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการผลิตอาหารและการทำเกษตรที่ดีเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เช่น การปลูกผักสวนครัว การเพาะเห็ด การแปรรูปเห็ด และการเลี้ยงจิ้งหรีด หรือการลดปริมาณขยะในครัวเรือนอย่างการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน การทำปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงการทำน้ำยาอเนกประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาดบ้านและสุขภัณฑ์เพื่อให้ชาวบ้านรู้วิธีป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 สุดท้ายคือการจัดอบรมหลักสูตรการบริหารทางการเงินเพื่อให้แต่ละครอบครัวรู้จักการทำบัญชีครัวเรือนและของชุมชนเอง 

ในอนาคตหากโครงการสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มเป้าหมายจะเกิดการพัฒนาและมีทักษะในการปลูกเห็ด พืชผักสวนครัว และเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อบริโภคเองและจำหน่ายได้จริง ทำให้มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ปริมาณขยะในครัวเรือนและชุมชนลดลง เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นตามมา กลายเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับสมาชิกในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงให้อยากทำตาม ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ดีกระจายสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง แทนที่การแพร่ระบาดโควิด-19  พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

หากโครงการสำเร็จจะทำให้กลุ่มเป้าหมายมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ปริมาณขยะในครัวเรือนและชุมชนลดลง เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นตามมา กลายเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับสมาชิกในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงให้อยากทำตาม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ส่งเสริมทักษะชีววิถีสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ชื่อหน่วยงาน

โรงเรียนสถาบันพัฒนาการศึกษาและอาชีพ สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ.เชียงใหม่

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายกวีวัธน์ ตาหลวง
โทร: 064-7593179

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำการเกษตรที่ดี และเหมาะสม เพื่อความมั่นคงทางด้านการผลิตอาหาร สามารถใช้บริโภคในครัวเรือน เสริมสร้างโภชนาการของสมาชิกในครอบครัว ลดภาระค่าใช้จ่าย และเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง
  2. กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพอิสระ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น  การเพาะเห็ด การแปรรูปและถนอมอาหาร การเพาะเลี้ยงไส้เดือน และสามารถนำความรู้และทักษะไปพัฒนาเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมของครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง
  3. กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลสุขอนามัยของครอบครัว จัดการปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจในครัวเรือนได้และมีวิธีป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส