หสน.การจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดอบรมอาชีพผึ้งโพรง ช่วยสร้างรายได้ให้กับอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ

นครศรีธรรมราช อาหาร

ผึ้งโพรง ผึ้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและสามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะนอกจากจะสามารถขายได้กิโลกรัมละหลายร้อยบาทแล้ว ยังช่วยในการเพิ่มผลผลิตตามธรรมชาติเนื่องจากผึ้งโพรงช่วยในการผสมเกสรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนเป็นตัวบ่งชี้ความปลอดภัยของการผลิตพืชอาหาร

ผึ้งโพรงจึงเป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับอาสาสมัครช่วยเหลือที่อยู่เคียงข้างชุมชนเสมอมา ดังกรณีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอชะอวด อำเภอทางตอนใต้สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่หลายครั้ง อาสาสมัครในชุมชนจึงได้เข้ามาช่วยเหลือคนในพื้นที่ให้อยู่อย่างปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่อำเภอมีลักษณะภูมิประเทศมีความลาดเอียงและเชื่อมต่อกับพื้นที่ต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด ส่งผลให้เกิดอุทกภัยแทบทุกปีมาโดยตลอด อย่างในปีที่ผ่านมาความเสียหายนั้นรุนแรงถึงขั้นที่ถนนของชุมชนถูกตัดขาด หน่วยงานไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ เป็นเหตุให้พี่น้องชาวบ้านในอำเภอลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย และทำให้ชาวบ้านผ่านวิกฤติครั้งนั้นไปได้

แต่ด้วยปริมาณของปัญหาและจำนวนของอาสาฯ ไม่สอดคล้องกัน ทำให้อาสาฯ หลายคนต้องทุ่มเทและใช้เวลาไปกับการทำงานจนส่งผลถึงการทำงานหารายได้ รวมถึงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อาสาสมัครบางส่วนถูกเลิกจ้าง และขาดแคลนรายได้ แต่ยังคงต้องดูแลครอบครัวที่มีทั้งคนชรา คนจิตเวช ผู้ป่วยติดเตียงและผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ห้างหุ้นส่วนสามัญการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล็งเห้นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาระบบดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติโดยการเลี้ยงผึ้งโพรง’ เพื่อส่งเสริมให้อาสาสมัครมีทักษะความรู้ในการเลี้ยงผึ้งโพรง สร้างอาชีพและรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือนของตน รวมถึงมีเวลาและกำลังในการที่จะช่วยเหลือสังคมบ้านเกิดต่อไป

สาเหตุสำคัญที่โครงการได้เลือกการเลี้ยงผึ้งโพรงมาพัฒนาอาชีพให้กับอาสาฯ คือในปัจจุบันนี้น้ำผึ้งของผึ้งโพรงกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะกำลังผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ราคาของน้ำผึ้งมีราคาสูงและสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 300-500 บาทเลยทีเดียว ยังไม่นับว่าน้ำผึ้งสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าสูงกว่านี้ได้อีกมากมายหลากหลายชนิด นอกจากนี้การเลี้ยงผึ้งโพรงยังมีประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างหนึ่งคือมันจะช่วยผสมเกสรในพื้นที่นั้นให้ผลผลิตทางการเกษตรที่มากและธรรมชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

โครงการฯ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้อาสาสมัครกลุ่มเป้าหมาย  โดยเริ่มจากกระบวนการต้นทางในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของผึ้งโพรง การรู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบการเลี้ยง การนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกจำหน่ายไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดรายได้ให้เพิ่มขึ้นไปอีก

การที่โครงการได้วางแผนพัฒนาครั้งนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดระบบการดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติให้พวกเขาหมดความกังวลในเรื่องของรายได้ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือชุมชนได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายการเลี้ยงผึ้งโพรงโดยอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการรับรองรายได้ให้กับอาสาสมัครรุ่นต่อๆ ไป

 

การที่โครงการได้วางแผนพัฒนาครั้งนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดระบบการดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติให้พวกเขาหมดความกังวลในเรื่องของรายได้ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือชุมชนได้อย่างเต็มที่

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาระบบดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติโดยการเลี้ยงผึ้งโพรงฝึกอบรม

ชื่อหน่วยงาน

ห้างหุ้นส่วนสามัญการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช

จังหวัด

นครศรีธรรมราช

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: จ่าโท โกเมศร์ ทองบุญชู
โทร: 08 9444 4312

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติได้มีรังผึ้งจำนวน 5 รัง สามารถมีรายได้จากการเลี้ยงผึ้งโพรง เฉลี่ยครัวเรือนละ 35,000 บาท ถึง 45,000 บาท/ปี อย่างยั่งยืน (รังผึ้งมีอายุการใช้งานได้ ระยะ 5-10ปี)
  2. อาสาสมัครทีความรู้เรื่องการจัดทำรังผึ้ง และสามารถขยายผลในการจัดทำรังผึ้งให้กับครอบครัวหรือจำหน่ายเพิ่มรายได้ ตลอดจนมีความสามารถในการพัฒนายกระดับตนเองไปสู่การเป็นวิทยากร สาธิต แนะนำการจัดทำผึ้งโพรงได้เป็นอย่างดี
  3. ครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติสามารถจัดทำบัญชีรายจ่าย-ครัวเรือน และนำเอาบัญชีรายจ่าย-ครัวเรือน มาวิเคราะห์ เรื่องรายรับ-รายจ่าย หรือความจำเป็นในการใช้จ่าย ซึ่งบัญชีรับ-จ่ายครัวเรือน สามารถที่จะเปลี่ยนวิธีคิดให้ครอบครัวอาสาสมัครลดรายจ่ายบางอย่างลงไปได้ และเมื่อลดรายจ่ายก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ของครอบครัว
  4. มีการพัฒนาแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับวัตถุดิบในชุมชน เช่น สบู่น้ำผึ้งผสมมังคุด สบู่น้ำผึ้งผสมใบบัวบก หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น เชือกกล้วย กระจูด หวาน คล้า เป็นต้น
  5. กระบวนการจัดทำโครงการฯจะต้องมีการถอดบทเรียนพัฒนาเป็นชุดความรู้และยกระดับเป็นนวัตกรรมให้สามารถถ่ายทอดขยายผล และยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ผู้รู้ ชุดความรู้ ผู้มาเรียนรู้ เรื่องการเลี้ยงผึ้งโพรง)
  6. มีกลไกคณะทำงานโครงการฯโดยใช้อาสาสมัครจัดการภัยพิบัติเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาและยกระดับเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายเลี้ยงผึ้งโพรงที่สามารถเชื่อโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ทั้งเชิงประเด็นและพื้นที่

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส