ยกระดับทักษะปูกระเบื้องและงานหัตถกรรมสถานพินิจสุราษฯ

ยกระดับทักษะปูกระเบื้องและงานหัตถกรรม สถานพินิจสุราษฯ ออกแบบหลักสูตรวิชาชีพที่มาจากความต้องการของเยาวชน

สุราษฎร์ธานี งานช่าง

โลกนี้อาจมีสถานที่มากมายที่พร้อมต้อนรับให้ผู้คนที่เคยเข้าไปใช้บริการกลับมาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สถานที่แบบหนึ่งที่ไม่อยากต้อนรับ และไม่อยากให้มีใครเข้าไปใช้บริการเลยก็คือสถานที่ที่ใช้สำหรับควบคุมตัวผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกระทำความผิด อย่างเช่น สถานพินิจฯ ทัณฑ์สถาน และ เรือนจำ

โดยเฉพาะสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพราะในพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเหล่าเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ การที่พวกเขาโดนควบคุมให้อยู่ในพื้นที่เช่นนี้ ย่อมปิดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะความรู้ต่างๆ รวมถึงการมีสังคมและประสบการณ์แบบเยาวชนทั่วไป

ความแตกต่างด้านประสบการณ์ของสังคมภายในและสังคมภายนอกสถานพินิจฯ ทำให้การฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมระหว่างที่เด็กๆ รับโทษอยู่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนี่คือความท้าทายของสถานพินิจฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอมา ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะส่งเยาวชนเหล่านี้ให้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้อย่างมีความสุขภายหลังการพ้นโทษ โดยที่พวกเขาจะไม่กระทำความผิดซ้ำสองจนต้องกลับเข้าไปอีก

หากลองมองที่สาเหตุของการกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าไปอีกครั้งแล้วครั้งเล่า คือพวกเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ามาอยู่ในสังคมอย่างคนปกติธรรมดาได้ เพราะการปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมอย่างปกติสุขนั้นต้องอาศัยปัจจัยร่วมมากมายโดยเฉพาะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในจุดนี้เองที่กลายมาเป็นปัญหาไม่รู้จบ เพราะสถานพินิจฯ บางแห่งก็ไม่สามารถอบรมฝึกฝน ทักษะในการประกอบอาชีพให้กับเยาวชนได้ตรงตามความต้องของพวกเขาเอง รวมถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลยได้พยายามหาวิธีการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจฯ แห่งนี้ โดยเริ่มจากการทำเซอร์เวย์ว่าเด็กๆ ในนั้นอยากที่จะเรียนรู้ทักษะด้านอะไรบ้าง จากนั้นจึงพบว่าเยาวชนช่วงอายุ 15-18 ปี สนใจประกอบอาชีพอิสระ และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานปูกระเบื้อง งานด้านศิลปะหัตถกรรม

เมื่อได้พบความต้องการที่แท้จริงของเด็กๆ ในสถานพินิจฯ แล้ว ‘โครงการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน’ จึงค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น สถานพินิจฯ สุราษฎร์ธานีได้เข้าไปจับมือกับสถาบันการศึกษาอย่าง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนด้านการเรียนการสอนและพื้นที่ในการปฏิบัติงานจริง จนออกแบบมาเป็นหลักสูตรที่พร้อมเปิดให้เด็กๆ ในสถานพินิจฯ เลือกสมัครเรียนได้ตามความต้องการ

โดยหลักสูตรวิชาชีพการปูกระเบื้องจะสอนทั้งแต่ภาคทฤษฎีจนถึงภาคปฏิบัติ โดยปูพื้นฐานจากวิชาปูกระเบื้องที่ถูกต้อง การออกแบบการปูกระเบื้อง การวิเคราะห์ต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งผู้เข้าเรียนจะต้องใช้เวลา 60 ชั่วโมงในการเรียนจนจบหลักสูตร ขณะที่หลักสูตรวิชาหัตถกรรมจะมีระยะเวลาที่สั้นกว่าคือ 30 ชั่วโมง โดยจะสอนการประดิษฐ์ผลงานหัตถกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การสานตะกร้า การทำผ้าปาเต๊ะ การทำกระเป๋า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้จินตนาการและฝีมือ รวมถึงสมาธิในการสร้าง

โครงการฝึกฝนทักษะนี้ นอกจากจะเป็นทักษะที่เยาวชนในศูนย์ชื่นชอบและอยากฝึกฝนแล้ว การปูกระเบื้องและหัตถกรรมคือวิชาชีพที่มีตลาดแรงงานรองรับอยู่ตลอด เพราะงานเหล่านี้เป็นงานฝีมือ ทำให้คนที่สามารถผลิตผลงานคุณภาพได้สม่ำเสมอเป็นที่ต้องการในการจ้างงานอย่างแน่นอน และในอนาคตเมื่อฝึกฝนฝีมือจนถึงระดับหนึ่งแล้ว เยาวชนที่ผ่านโครงการเหล่านี้ก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มเพิ่มความมั่นคงและมั่งคั่งในชีวิตต่อไปได้ยามที่พวกเขาเติบโตขึ้น

การเริ่มต้นแก้ปัญหาจากความต้องการของเด็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหยิบยื่นอนาคตมาให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะ ‘ออกแบบชีวิตของตัวเอง’ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนที่ได้ผ่านการฝึกฝนวิชาเหล่านี้ จะสามารถออกไปสู่สังคมปกติ และประกอบอาชีพอิสระที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ย่างกรายเข้าไปยังสถานพินิจฯ อีกตลอดชีวิตของพวกเขา

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สร้างงานสร้างอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน

ชื่อหน่วยงาน

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สุราษฎร์ธานี

จังหวัด

สุราษฎร์ธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายธฤต ศรีโยธา
โทร: 091-8498794

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการฝึกวิชาชีพการปูกระเบื้อง และวิชาชีพหัตถกรรมทำมือ วิชาชีพละไม่น้อยกว่า 50 คน
  2. มีหน่วยงานและองค์กรเข้ามาร่วมในการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนไม่น้อยกว่า 5 หน่วยงาน
  3. เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีทางเลือกในการประกอบอาชีพและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  4. เด็กและเยาวชนได้รับการเสริมสร้างทักษะการวางแผนและตั้งเป้าหมายชีวิต รวมถึงการตระหนักถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครัวเรือน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส