‘ต่อยอดให้เป็น แปรรูปให้ได้’ กศน.สุไหง-โกลกเปิดโครงการเสริมทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับแรงงานด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร

นราธิวาส การแปรรูปผลิตภัณฑ์

หลายครั้งสิ่งที่ขาดไปในชุมชนเกษตรกรรมคือ ‘องค์ความรู้เพื่อการต่อยอด’ เพราะชาวบ้านหรือเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะมีเชี่่ยวชาญเฉพาะทางแค่ในด้านการเพาะปลูกและผลิต ‘วัตถุดิบ’ แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเหล่านั้นได้ การแปรรูปหรือต่อยอดวัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยทำให้วัตถุดิบธรรมดาๆ มีราคาสูงขึ้นมาได้ ซึ่งหากเราสามารถเสริมองค์ความรู้ในการแปรรูปเหล่านี้ให้กับเกษตรกรได้ พวกเขาก็จะสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้ในคนเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรอย่างยั่งยืน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้เห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ จึงได้ริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อพึ่งพาตนเอง’ โดยมีเป้าหมายเป็นการผลิตแรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าการเกษตรให้เกิดมูลค่า

กศน.สุไหงโก-ลก จึงได้ไปจับมือกับหน่วยงานในภาครัฐ อย่างเช่น สำนักงานเกษตรอำเภอที่เข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมการผลิต สำนักงานพัฒนาการอำเภอที่เข้ามามีส่วนร่วมในด้านการจัดการความรู้ การอาชีพ การออม และการบริการเงินทุนขององค์กรในชุมชน สาธารณสุขอำเภอเข้ามาดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกที่จะมาช่วยส่งเสริมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต

กลุ่มเป้าหมายที่กศน. อำเภอสุไหงโก-ลก ได้กำหนดไว้คือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วยกลุ่มแรงงานนอกระบบจำนวน 52 คน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 20 คน กลุ่มผู้ว่างงานจำนวน 70 คน กลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 8 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน

แผนการพัฒนาทักษะอาชีพจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ 1.ต้นน้ำ 2.กลางน้ำ 3.ปลายน้ำ โดยในระดับแรกจะเป็นการรับซื้อสินค้าการเกษตรจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ จากนั้นก็จะอบรมฝึกฝนโดยใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ซื้อมาเป็นเครื่องมือในการทดลองเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ จนไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการเรียนรู้เรื่องการตลาด โดยผู้ผลิตจะต้องสามารถทำการตลาดผ่านร้านค้าเครือข่าย OTOP เพื่อการจัดจำหน่ายสินค้าได้

นอกจากการเรียนรู้ในเชิงทักษะอาชีพแล้วกศน. ยังเพิ่มเติมเนื้อหาสำหรับโลกยุคใหม่อย่างการใช้สื่อดิจิทัลเพื่ออบรมสมาชิกในหลักสูตร ‘การค้าขายออนไลน์’ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาของรัฐที่ในปัจจุบันจะมีการติดตั้ง ‘เน็ตประชารัฐ’ ในแต่ละชุมชนเพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวบ้าน ซึ่งการขายของผ่านสื่อออนไลน์นี้จะช่วยเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อพึ่งพาตนเองนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การค้าขายออนไลน์ของกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนจากการอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรจากกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดสารพิษอีกด้วย จึงนับว่าเป็นโครงการที่พัฒนาตัวบุคลากรด้อยโอกาส ไปพร้อมๆ กับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ชุมชนมีเม็ดเงินไหลเวียนจากคนในชุมชนเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อพึ่งพาตนเอง

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสุไหงโก-ลก

จังหวัด

นราธิวาส

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางอัศนีย์ หมาดสตูล
โทร: 080-7075946

เป้าประสงค์โครงการ

กลุ่มแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สามารถมีทักษะการประกอบอาชีพ และนำความรู้ ทักษะที่ได้รับการฝึกอบรมไปสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส