ดึงเอกลักษณ์ความอร่อยของเครื่องแกงจากชุมชนนีปิสกูเละ มาจัดทำโครงการผลิตเครื่องแกงใต้สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ไม่ว่าอาหารภาคไหน ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้อาหารอร่อยคือ เครื่องแกง ยิ่งเฉพาะเครื่องแกงใต้ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน เข้มข้นถึงเครื่องถึงใจด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องแกงจาก ชุมชนนีปิสกูเละ ที่ได้รับการยกย่องว่าทำอาหารอร่อยโดดเด่นแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี โดยมีสูตรเด็ดเคล็บลับอยู่ที่เครื่องแกงซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากต้นตระกูลและเชื้อสายชาววังเมืองปัตตานี ทว่านับวันผู้เชี่ยวชาญในการทำเครื่องแกงเริ่มเหลือน้อยลงไปตามกาลเวลา จนเป็นที่หวั่นใจว่ามรดกภูมิปัญญาจะเลือนหาย
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จึงจัดทำ “โครงการสืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ชุมชน” เพื่อรวบรวมองค์ความรู้การทำเครื่องแกงพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย และนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่
เบื้องต้นโครงการสืบสานทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ชุมชน ตั้งเป้าดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 150 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียง จาก 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชุมชนดาโตะและกาแระ ชุมชนนีปิสกูเละ ชุมชนกาแระ และชุมชนบ้านราบอ
ขั้นตอนแรกทางโครงการฯ เน้นเรื่องของการศึกษาความต้องการของตลาดเครื่องแกง เพื่อให้เห็นภาพของรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นในขั้นตอนต่อไปคือ การถอดสูตรลับความอร่อยเครื่องแกง เพื่อให้ได้เครื่องแกงสูตรอร่อย ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องฝึกฝนลองผิดลองถูก ปรับสูตรอยู่หลายครั้ง รวมทั้งยังมีการทดสอบ เปรียบเทียบรสชาติกับสูตรเครื่องแกงยี่ห้ออื่น ๆ อีกทั้งยังแจกจ่ายให้คนทั่วไปได้ลองชิม เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงให้ได้เครื่องแกงที่รสชาติถูกใจผู้บริโภคมากที่สุด
เมื่อสูตรเครื่องแกงเริ่มนิ่ง ก็ถึงเวลาออกตลาด ทางโครงการฯ ได้วางแผนทดลองขายในตลาดชุมชนก่อน ซึ่งโจทย์ใหญ่ในการขายคือ การแข่งขันด้านราคา แม้ว่าราคาเครื่องแกงที่ชุมชนผลิตขายจะมีราคาสูงกว่าเครื่องแกงทั่วไปถึงเท่าตัว แต่ด้วยคุณภาพของวัตถุดิบที่เลือกสรรมาอย่างดี ความพิถีพิถันใส่ใจในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งรสชาติที่อร่อยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้เครื่องแกงติดตลาดได้ในไม่ช้า ส่งผลให้ทุกวันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เดินหน้าผลิตเครื่องแกงพื้นบ้านทั้ง 4 สูตร ส่งไปขายในตลาดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่บางคนก็ทดลองนำไปขายเอง ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิกมากขึ้น
คอดีเยาะ ยาโกะ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า “หลังจากที่เริ่มมีการผลิต เราก็ลองเอาเครื่องแกงไปขายที่ตลาดชุมชนดู ซึ่งก็ช่วยให้เรามีรายได้เสริมเข้ามา โดยหลังจากนี้อีกไม่นานคาดว่าน่าจะขายได้มากขึ้น เพราะจากที่เราเอาไปขาย ลูกค้ากลับมาบอกว่าอร่อยทุกคน วันแรกมีคนซื้อไป 3 คน วันที่สองเขากลับมาซื้อแล้วก็ชวนเพื่อนมาซื้อด้วย ไม่นานก็ขายหมด ล่าสุดทางกลุ่มได้มีการเอาเครื่องแกงไปขายที่ร้านค้าประมาณ 1,000 ถุงแล้ว”
บทสรุปของโครงการสืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านนี้จึงมีความน่าสนใจในแง่ของการเลือกเอาสิ่งที่ผู้คนต้องบริโภคอยู่เป็นประจำอย่างเครื่องแกงมาเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไป แต่โครงการก็ทำได้สำเร็จผ่านการลงพื้นที่เพื่อถอดสูตรเครื่องแกงจากผู้รู้ในชุมชน ทำให้ได้สูตรเครื่องแกงที่อร่อยและแตกต่างจากของที่มีอยู่ในตลาด
ด้วยความโดดเด่นของเครื่องแกงที่มีรากฐานมาจากต้นทุนความรู้ในชุมชน จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนในพื้นที่ และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในโครงการด้วย มากไปกว่านั้นการผลิตสูตรเครื่องแกงที่ได้มาจากคนในชุมชนเอง ยังนับว่าเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุรักษณ์ ‘รสชาติ’ อันดั้งเดิมของเครื่องแกงใต้แท้ๆ เอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ลิ้มรสด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพโดย
- เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการทำอาหารของชุมชนให้อยู่คู่ชุมชนชายแดนใต้ต่อไป
- เป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มีรายได้เสริมสู่ครอบครัวเพิ่มขั้น
- ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก
- ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเองและการอยู่ร่วมกันในชุมชน
- กลุ่มเป้าหมายมีทักษะฝีมือการทำเครื่องแกง ทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม การคิดเป็นระบบ การสื่อสาร และการทำตลาดออนไลน์
- กลุ่มสตรีมีรายได้เสริมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- พัฒนาความรู้และทักษะการทำอาหารและผลิตเครื่องแกงอาหารมลายูมุสลิมให้กับกลุ่มสตรี
- เกิดกลุ่มทำเครื่องแกงที่มีระบบการบริหารจัดการสอดคล้องกับวิถีชีวิต
- มีระบบการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพอาหาร (รสชาติ สะอาด ปลอดภัยไร้สารป่นเปื้อน
- กลุ่มเป้าหมายมีทัศนะคติที่ดีต่อการทำงานกลุ่มและอาชีพ
- มีการทำงานเชิงเครือข่ายการผลิตและการตลาด
- รักษาตำรับอาหารมุสลิม อัตลักษณ์ชายแดนใต้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป
- ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม