กลุ่มเยาวชน ‘กอนกวยโซดละเว’ จัดทำโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย สืบสานวัฒนธรรม และสร้างอาชีพให้กลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชน

ศรีสะเกษ เกษตรกรรม

ต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย…สร้างรายได้ให้ชุมชน

จากผ้าไหมที่ทอใช้กันเอง สู่ผ้าไหมที่เป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรบ้านแต้พัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ  และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมการสวมใส่ผ้าไหมลดลง ส่งผลให้คนทอผ้าลดลง ความรู้ด้านการทอผ้าก็เริ่มจะหายไป 

และเพราะแต่ไหนแต่ไรมา ‘อาชีพทอผ้า’ มักส่งต่อและสืบทอดกันในลักษณะรุ่นต่อรุ่น ย่า ยายสอนให้แม่ แม่ส่งต่อให้ลูกสาว ขณะที่กระบวนการส่งต่อคือการทอให้เห็น และใช้ให้หยิบนู่นจับนี้ เด็ก ๆ ค่อย ๆ ซึมซับความรู้กันทีละเล็กละน้อย และเมื่อมือมีมัดกล้ามที่แข็งแรงมากพอ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทออย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น การทอผ้าในช่วงที่ผ่านมา คือการทอด้วยจิตวิญญาณ ทอเพราะเห็นคุณค่าของผืนผ้า มากกว่าการทอเพื่อทำเป็น ‘ผลิตภัณฑ์’

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเอาวัฒนธรรมการทอมาสานต่อเป็นงานอาชีพเพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องผิดกติกาแต่อย่างใด และเมื่อไม่นานมานี้ด้วยการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่ายก็ทำให้ผ้าไหมที่เกือบจะถูกลืมไปแล้วกลับมามีลมหายใจได้อีกครั้ง และที่สำคัญกลุ่มคนที่นำผ้าไหมทรงคุณค่าของชุมชนกลับมาคือ ‘กลุ่มเยาวชน’ 

โครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ที่ดำเนินการโดย โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีขั้นตอนและกระบวนการทำงานการต่อยอดความรู้ด้านการทอผ้าคือ การค้นหาคนมาสานต่อและสืบทอด 

กลุ่มเป้าหมายของโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน  ในเบื้องต้นส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนกลุ่มเดิมที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งทำโครงการเยาวชน เนื่องจากหลายคนมีทักษะพื้นฐานด้านการทอผ้า และเข้าใจกระบวนการทอผ้า แต่ยังขาดอุปกรณ์และเครื่องมือทำหรับการทอผ้า ขณะที่กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่ม คือ คนว่างงานในชุมชน และชุมชนรอบ ๆ อีก 4 หมู่บ้านรวม 50 คน โดยที่หลายคนอาจจะยังไม่มีทักษะ และความรู้ด้านการทอผ้า บางคนอาจถนัดเรื่องการย้อม ก็เอามาร่วมพัฒนาทักษะเพื่อให้เขาได้มีอาชีพ 

สำหรับกระบวนการถัดมาเป็นเรื่องการแกะลาย ทางโครงการฯ เริ่มต้นจากให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ผ่านช่างทอมืออาชีพ เนื่องจากการแกะลายเป็นกระบวนการสำคัญ เพราะลายผ้าต้องเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ดังนั้นการจะสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ต้องไม่ลืมลายเก่าๆ สำคัญกว่านั้น การแกะลายจะส่งผลไปถึงขั้นตอนการมัดหมี่ การวางเส้นด้าย การมัดลาย หรือ มัดหมี่ และการทอ 

จากความตั้งใจ และความมุ่งมั่น บวกกับความต้องการสานต่อศิลปะพื้นถิ่นของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเกิดรายได้กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการทางการทอผ้ามากขึ้น เช่น กลุ่มเป้าหมาย 10 คนผ่านการทอในระดับที่เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญ สามารถทอลายยากๆ ได้ และเริ่มต้นทอผ้าขายเพื่อหารายได้ 

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ทางโครงการฯ ยังได้มีการจัดอบรมด้านการตลาดออนไลน์ โดยเน้นไปที่ช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก รวมถึงการออกร้านหรือจัดบูทตามสถานที่ราชการกรณีมีงาน ซึ่งส่งผลให้ผ้าโซดละเวเป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

เมื่อโครงการได้ทำการอบรมฝึกฝนเสร็จสิ้นแล้ว ความสำเร็จหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องรอคอยตัวบ่งชี้ด้านรายได้คือ โครงการสามารถทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการทอผ้าได้ ซึ่งนับว่าเป็นหมุดหมายอันสำคัญที่จะช่วยสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่คนรุ่นต่อๆ ไป

ทั้งยังทำให้ภาพของการอนุรักษ์ผ้าไหมชาวกวยเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่จบหลักสูตรออกไป เริ่มสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่บุคคลภายนอกชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นช่องทางสำคัญที่จะสร้างรายได้และสร้างการับรู้แก่สาธารณะได้รู้จัก ‘ของดี’ ประจำชุมชนแห่งนี้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว

จังหวัด

ศรีสะเกษ

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: สิบเอกวินัย โพธิสาร
โทร: 098-5972149

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพเป็นการพัฒนายกระดับให้เยาวชนชุมชนมีฝีมือในด้านการทอผ้าไหมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส