‘อยู่ร่วม เพื่อ อยู่รอด’ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษาแม่ฮ่องสอนจัดโครงการสอนทำขนมจากวัตถุดิบในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนรายได้

แม่ฮ่องสอน อาหาร

ชุมชนบ้านแม่ลามาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำของหุบเขาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลามาน้อย มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่าง ป่าช้า ป่าสะดือ และป่าต้นน้ำ หรือพื้นที่ป่าใช้สอยสำหรับประกอบการทำไร่และพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเอง เช่น การทำไร่หมุนเวียน ระหว่าง กล้วย บุก งาขาว และงาดำเป็นต้น 

จากความสมบูรณ์ทางธรรมชาติประกอบกับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ลามาน้อยอยู่ติดกับลุ่มแม่น้ำ ส่งผลให้ชุมชนมีทรัพยากรทางอาหารเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมีการดำเนินวิถีชีวิตเชิงนิเวศวัฒนธรรม ผูกพันกับธรรมชาติและตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ชุมชนยังขาดความรู้ในการพัฒนาผลผลิตแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เพียงพอต่อทั้งชุมชนและตลาดที่ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เชิงเกษตรของชุมชน 

“ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้ สุขภาพดี” จึงกลายเป็นเป้าหมายของชุมชนบ้านแม่ลามาน้อย โดยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการพัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีทีมศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาเป็นผู้มอบองค์ความรู้และช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านแม่ลามาน้อยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จ 

จากความตั้งใจที่จะพัฒนาทักษะอาชีพจากศักยภาพทุนเดิมของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านลามาน้อยสามารถสร้างรายได้จากทุนทางธรรมชาติที่ตนมี ส่งผลให้โครงการฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมมาเป็นกลุ่มเป้าหมายมากถึง 150 คน โดยมีตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แรงงานนอกรัฐ และเด็กและเยาวชน 

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน ในฐานะที่เป็นหน่วยพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของโครงการดังกล่าวจึงได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ในลักษณะเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียนแบบมีส่วนร่วมโดยอาศัยฐานครอบครัวและชุมชน ระหว่างผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้รู้ในท้องถิ่น ผู้จัดการเรียนรู้ และองค์ความรู้สมัยใหม่ต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถก่อให้เกิดการผลิตได้จริง เช่น การแปรรูปผลผลิตจากกล้วย มาเป็นแป้งกล้วย และพัฒนาต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเรียนรู้การจัดตลาดทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เป็นต้น

จากหลักสูตรดังกล่าว ศูนย์วิจัยนวัตกรรมระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 15 – 30 ปีให้ความสนใจเรียนรู้และสามารถพัฒนาฐานความรู้เดิมและต่อยอดความคิดผ่านความรู้ใหม่ ๆ ในกระบวนการแปรรูปผลผลิตจากวัตถุดิบเดิมของชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มเป้าหมายช่วงวัยอื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้ปกครองหรือกลุ่มผู้สูงวัย ก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ทั้งยังช่วยสนับสนุนและส่งเสริมโครงการฯ จนกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตและจัดการผลผลิตร่วมกัน

สำหรับอนาคต หลังจากโครงการสิ้นสุดลง หน่วยพัฒนาฯ คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ชาวบ้านในชุมชนกลายเป็นผู้ประกอบการได้สำเร็จ สู่การสรรสร้างนวัตกรรมการจัดการคุณภาพชีวิตของชุมชน ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ “ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้ สุขภาพดี”

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน

จังหวัด

แม่ฮ่องสอน

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายนิติศักดิ์ โตนิติ
โทร: 0971187983

เป้าประสงค์โครงการ

แรงงานที่ขาดโอกาสในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลามาน้อย สามารถพัฒนาการประกอบการจากศักยภาพทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมได้ “ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้ สุขภาพดี”

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส