มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจัดอบรมอาชีพ ‘นวดแผนไทย’ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ให้กับคนพิการทางการได้ยิน

กรุงเทพมหานคร อื่น ๆ

นวดแผนไทย เป็นกิจกรรมที่คนไทยนิยมชมชอบ ทั้งยังโด่งดังไปนานาประเทศทั่วโลก เป็นกิจกรรมที่ชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศเราจะต้องลองสักครั้งก่อนกลับถิ่นฐานของตัวเอง ก่อนหน้านี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมนี้ต้องหยุดชะงักเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบันที่มาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง กิจกรรมการนวดแผนไทยก็กลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยเช่นเดิม โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่มีปัญหาปวดไหล่ เจ็บหลัง ปวดคอ 

การนวดแผนไทยเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่สามารถช่วยคลายเส้น คลายความเหนื่อยล้า โดยผู้ประกอบอาชีพนี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนและต้องมีความสามารถในด้านการใช้หัตกรรมที่ถูกต้อง สามารถเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักให้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนพิการทางสายตาที่ได้รับการสนับสนุนให้ฝึกวิชาชีพนี้ในการหารายได้ นับว่าเป็นการเข้าถึงโอกาสที่สำคัญของพวกเขา แต่กลับพบว่าคนพิการทางการได้ยินยังเข้าไม่ถึงการฝึกอาชีพในสายนี้

คงจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นโอกาสอันดี ถ้าหากมีพื้นที่สนับสนุนอาชีพให้กับผู้พิการทางการได้ยินได้เข้าถึงโอกาส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการศึกษาพิเศษและมีบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง สามารถทำงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนและให้บริการแก่คนพิการรวมไปถึงครอบครัว จึงได้สนใจกลุ่มเป้าหมายผู้พิการทางการได้ยิน เกิดการออกแบบหลักสูตรและส่งเสริมให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เหมือนกับคนทั่วไปภายใต้ ‘โครงการการพัฒนาอาชีพนวดแผนไทย ในโรงเรียนเฉพาะความพิการทางการได้ยิน เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล’ โดยเริ่มต้นจาก 4 พื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระบรมราชูปถัมภ์, โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ, โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 50 คน 

ทางโครงการได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมการนวดแผนไทย 150 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมในการอบรมการนวดแผนไทยเบื้องต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกโครงการเกิดทางเลือกในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมทักษะอาชีพให้กลุ่มอาชีพเดิม สร้างเงินสร้างรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการประกอบอาชีพของคนพิการทางการได้ยิน

นอกจากนั้นแล้ว ในการจัดการเรียนการสอนทางโครงการฯ และมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างคลินิกแพทย์แผนไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะที่จำเป็นอย่างการบริหารจัดการกิจการนวดแผนไทย การบริหารจัดการการเงิน และการสร้างแรงจูงใจในการทำงานตลอดจนการสอนจรรยาบรรณในวิชาชีพ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่วิทยากรผู้มีประสบการณ์คัดกรองแล้วว่าพวกเขาจะเจอในอนาคต

โดยการจัดอบรมเรื่องการนวดแผนไทยครั้งนี้ นอกจากมุ่งหวังการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้พิการทางการได้ยินแล้ว การอบรมจะมีการส่งเสริมในเรื่องของการทำงานเป็นทีม มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการสื่อสารกับคนทั่วไป เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นในการติดต่อกับผู้มาใช้บริการ เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับพวกเขามากขึ้น โดยผู้พิการทางการได้ยินนั้นล้วนมีความพึงพอใจที่อยากทำงานได้อย่างกับคนทั่วไป ต้องการทำงานเป็นทีมอีกทั้งต้องการที่จะใช้ชีวิตและเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกับทุกๆ คน

การอบรมนวดแผนไทยนี้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินที่มีความเสียเปรียบในด้านการสื่อสารทำให้ขาดโอกาสพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ จะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตัวเองอันจะเป็นแนวทางในการลดภาระของสังคมในอนาคต เพิ่มคุณค่าให้กับพวกเขาได้เป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นผู้ประกอบการอิสระ หรือเป็นครูสอนให้กับรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งถือเป็นพลังด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติต่อไป

การอบรมนวดแผนไทยนี้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยิน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาอาชีพนวดแผนไทย ในโรงเรียนเฉพาะความพิการทางการได้ยิน เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดกรุงเทพฯ

จังหวัด

กรุงเทพมหานคร

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรรวิภาร์ หงส์งาม
โทร: 087 591 3726

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เป็นทางเลือกการประกอบอาชีพของคนพิการทางการได้ยิน
  2. เป็นต้นแบบในการส่งเสริมทักษะอาชีพของคนพิการทางการได้ยิน
  3. เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนพิการทางการได้ยิน
  4. เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการประกอบอาชีพของคนพิการทางการได้ยิน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส