พัฒนาอาชีพคู่ขนานการเกษตรฐานรากครบวงจร จังหวัดเชียงราย (Comprehensive Agro-localisation Product Development:Chiang Rai Province)
ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่จังหวัดเชียงรายกว่าร้อยละ 41.36 ถูกจัดเป็นพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร คิดเป็น 3,018,733 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 7.5 เท่า โดยประมาณ โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำนา ปลูกพืชไร่ พืชสวน และไม้ผลยืนต้น เมื่อดูผิวเผิน ภาคการเกษตรของจังหวัดเชียงรายอาจดูเหมือนเป็นแหล่งรายได้หลักของจังหวัด ด้วยขนาดพื้นที่ประกอบการที่กินบริเวณกว้าง และปัจจัยหนุนจากความอุดมสมบูรณ์ในฐานะพื้นที่เทือกเขาสูงและพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญสองสายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำโขงและแม่น้ำกก
แต่ความจริงแล้ว ภาคการเกษตรกลับสร้างรายได้ในฐานะผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการเกษตรและศักยภาพด้านการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับภัยคุกคามจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การผูกขาดอำนาจระหว่างเกษตรกรและพ่อค้าคนกลางชัดเจนขึ้น เนื่องจากเส้นทางการค้าเป็นไปในรูปแบบของเส้นตรง เริ่มจากเกษตรกรไปสู่พ่อค้าคนกลาง และจากพ่อค้าคนกลางไปสู่ตลาดหลัก และจากตลาดหลักไปสู่ผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้เกษตรกรต้องยอมรับราคาที่พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด เพราะไม่มีเส้นทางอื่นสำหรับกระจายสินค้าด้วยตัวเอง
ด้านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ต้องการแก้ไขปัญหานี้ จึงผลักดันโครงการพัฒนาอาชีพคู่ขนานการเกษตรฐานรากครบวงจร จังหวัดเชียงราย ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเส้นทางลำเลียงผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรให้หลากหลายมากขึ้น และทำให้การผูกขาดด้านราคาจากพ่อค้าคนกลางลดลง
ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องพัฒนาเกษตรกรให้มีทักษะที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือเกษตรกรจะต้องสามารถแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากกว่าการขายผลผลิตโดยตรงที่ไร่ของตัวเอง และยังต้องเรียนรู้ในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย การตลาด รวมไปถึงการขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์อีกด้วย
โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเกษตรกรวัยแรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเม็งราย อำเภอเชียงของ และอำเภอขุนตาล รวมทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งแต่ละอำเภอจะมีผลผลิตภาคการเกษตรที่แตกต่างกัน เช่น อำเภอเมืองเชียงราย นิยมปลูกข้าวและลิ้นจี่, ส่วนอำเภอขุนตาล นิยมปลูกมะพร้าวน้ำหอมและลำไย เป็นต้น
ซึ่งจะใช้วิธีการดำเนินงานแบบ active learning ที่เน้นการปฏิบัติจริงหรือการอบรมเชิงปฏิบัติการ มากกว่าการเรียนรู้เชิงทฤษฎี โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน เพื่อให้โครงการไปถึงจุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของภาครัฐ, การสนับสนุนด้านนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และการเชิญหน่วยงานธุรกิจมาเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด อย่างสมาคมธุรกิจโรงแรมเชียงราย และสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน, และการจับมือกับเครือข่าย Young Smart Farmer จังหวัดเชียงราย เพื่อขยายเครือข่ายในบทบาทตัวแทนของภาคชุมชน
เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สถานการณ์ของภาคการเกษตร จังหวัดเชียงราย จะดำเนินไปตามทิศทางที่โครงการตั้งไว้ได้หรือไม่ ไม่แน่ว่า จากที่เคยสร้างรายได้ในฐานะผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 1 ใน 3 ก็อาจมีอัตราที่เพิ่มขึ้น เมื่อเกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือหรือทิ้งในแต่ละปี มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สบู่ธรรมชาติ หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ คู่ขนานไปกับอาชีพในภาคการเกษตรที่มีอยู่ดั้งเดิมได้
การจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องพัฒนาเกษตรกรให้มีทักษะที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือเกษตรกรจะต้องสามารถแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากกว่าการขายผลผลิตโดยตรงที่ไร่ของตัวเอง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาอาชีพคู่ขนานการเกษตรฐานรากครบวงจร จังหวัดเชียงราย
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เกษตรกรวัยแรงงานที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับการพัฒนาทักษะและทุนเริ่มต้นจากโครงการ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของตน
- เกษตรกรวัยแรงงานที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับการพัฒนาทักษะและทุนเริ่มต้นจากโครงการ ไปเป็นทางเลือกสำหรับอาชีพคู่ขนาน อันนำไปสู่วิถีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน