‘กลุ่มลูกเหรียง’ เปลี่ยนโควิดให้เป็นโอกาส สร้างรายได้จากเอกลักษณ์ท้องถิ่นชายแดนใต้

ยะลา อื่น ๆ

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในกลุ่ม 10 อันดับสูงสุดของประเทศ เนื่องจากมีการอพยพของแรงงานจากทั้งในและนอกประเทศกลับมายังบ้านเกิด รวมไปถึงการเดินทางไปกลับเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา

ไม่เพียงเท่านั้น โควิด-19 ยังได้ซ้ำเติมปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้แย่ลง เนื่องจากนโยบายการเว้นระยะห่าง (social distancing) การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด อำเภอ หรือหมู่บ้าน รวมไปถึงการควบคุมการเข้าประเทศของมาเลเซีย ได้ส่งผลให้ลูกจ้างประสบกับภาวะตกงานกะทันหัน รายได้หลักที่นำมาใช้ในการจุนเจือครอบครัวลดน้อยถอยลง แรงงานบางส่วนจึงได้กลับมาอยู่ในชุมชนของตน เพื่อประคับประคองรายจ่ายในสถานการณ์อันเปราะบางนี้

ถึงแม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 จะส่งผลกระจายเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านสุขภาพกายและจิต เศรษฐกิจ และสังคม แต่สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียง ก็ได้มองเห็นโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อพยพกลับชุมชนของตน และได้นำเสนอโครงการพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยโครงการนี้ได้จ้างงานเร่งด่วนให้กับผู้ที่ยากจนเป็นพิเศษ โดยอาชีพที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้เลือกทำ เช่น คุณครูในชุมชน ที่คอยสอนหนังสือและจัดกิจกรรมในช่วงที่งดการเรียนการสอนในโรงเรียน กลุ่มจิตอาสาทำอาหารให้แก่ชาวบ้านในชุมชน เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน และมีเงินหมุนเวียนภายในชุมชน 

นอกจากนี้ กลุ่มลูกเหรียงยังได้เล็งเห็นศักยภาพในการพัฒนาทักษะทางอาชีพของท้องถิ่นชายแดนใต้ ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนเอง จึงได้ริเริ่มและสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตท้องถิ่น ได้แก่ การแปรรูปข้าวเกรียบพร้อมทานกรือโปะ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และการผลิตน้ำสลัดปลากุเลา ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์นั้น พัฒนามาจากอาหารดั้งเดิมของภาคใต้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มความน่าสนใจด้วยรสชาติที่หลากหลาย ในการดำเนินการครั้งนี้ ยังได้มีการพัฒนาในขั้นตอนการผลิตข้าวเกรียบให้มีรสชาติดีขึ้น ขยายเวลาจัดเก็บให้ยาวนานมากขึ้น และมีบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีความทันสมัย สามารถบอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี 

จากการทำสำรวจความสนใจในการประกอบอาชีพ ยังพบว่า ในชุมชนเมืองมีความสนใจในอาชีพบริการ โดยเฉพาะการนวดแผนไทยและสปา กลุ่มลูกเหรียงจึงได้จัดโครงการอบรมนวดให้กับกลุ่มเยาวชนและแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 10 คน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ผู้เข้าร่วมจะได้รับใบอนุญาตนวดแผนไทย ทั้งยังได้ใช้น้ำมันนวดสูตรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาใช้ในโครงการด้วย 

ในการขยายฐานการตลาดให้กับสินค้าและบริการภายในท้องถิ่นนั้น จะนำเอาการตลาดแบบออนไลน์เข้ามาใช้ รวมไปถึงการโปรโมทผ่านหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มลูกเหรียง ซึ่งมีผู้ติดตามทั้งดารา นักร้อง และบุคคลทั่วไปจำนวนมากให้ความสนใจ เมื่อสิ้นสุดโครงการมีความคาดหวังว่าชุมชนจะสามารถตั้งวิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 แห่ง สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารท้องถิ่น และกิจการนวดแผนโบราณ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 จะส่งผลกระจายเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านสุขภาพกายและจิต เศรษฐกิจ และสังคม แต่สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียง ก็ได้มองเห็นโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อพยพกลับชุมชนของตน และได้นำเสนอโครงการพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ชื่อหน่วยงาน

สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)

จังหวัด

ยะลา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสุไลมาน เจะอุบง
โทร: 083-1904979

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  2. ผู้เข้าร่วมมีความมั่นใจในการประอาชีพ และสามารถต่อยอดอาชีพใหม่ ๆ ได้หลังจบโครงการ
  3. เกิดอาชีพและรายได้ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตการณ์ความไม่สงบและโรคโควิด-19
  4. เกิดกิจการขึ้นจำนวน 2 แห่ง ซึ่งสามารถดำเนินการได้จริง และสร้างรายได้ในชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส