พิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ผู้รังสรรค์เมนูอาหารยั่งยืนจากพืชพรรณท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงในบ้านเกิดของตัวเอง

“คนบนดอยไม่อยากห่างบ้านแต่จำเป็นต้องออกไปเพราะต้องไปหาเงินให้ลูกเรียนหนังสือ หาเงินเดือนชนเดือนซึ่งเป็นภาระหนักมาก ลูกสาวเรียนจบปริญญาตรีตอนนี้ก็กลับมาอยู่บ้าน ถ้าอยู่ในชุมชนแล้วสามารถประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอ เราไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก”

พิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ประธานกลุ่มแม่บ้านบ้านดง อายุ 44 ปี เล่าให้ฟังถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสูง

ความคาดหวังในการทำมาหากินอยู่ในท้องถิ่นเกิดของตนเองคงเป็นสิ่งความตั้งใจของใครหลายคนที่ต้องเดินทางไกลจาก ‘บ้าน’ เพื่อเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่หลายครั้งสิ่งนี้ก็ไม่อาจเป็นทางเลือก เนื่องจากพื้นที่ท้องถิ่นหลายแห่งในประเทศไทย ‘ไม่มีงาน’ และ ‘ไม่มีอาชีพ’ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อความต้องการในชีวิตประจำวัน

สำหรับพื้นที่บางแห่ง เช่น ชุมชนบ้านดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวละว้า ก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีคนทำงานอยู่ภายในชุมชนจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรและเปิดบริการที่พักโฮมสเตย์ให้กับนักท่องเที่ยวด้วย ทำให้ประธานกลุ่มแม่บ้านอย่างพิมพ์พยายามหาช่องทางที่จะช่วยสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ให้สามารถสร้างรายได้เข้าครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ

พิมพ์เล่าว่าการเกษตรในพื้นที่บ้านดงส่วนใหญ่มีผลผลิตที่ดีตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถนำไปส่งขายให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานการคัดสรรทำให้ต้องเสียผลผลิตเหล่านั้นไปโดยเปล่าประโยชน์

พืชผักบางอย่างยังมีคุณภาพดี แต่เพราะมีรอยช้ำหรือผลแตกเลยไม่ผ่านมาตรฐาน ถ้าเป็นผักเราก็ทำได้แค่เอามาต้มจิ้มน้ำพริกไม่รู้จะทำยังไงต่อ ผลไม้ที่ขายไม่ได้ก็ปล่อยทิ้งให้เน่าเสียไป อยากได้ความรู้มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้”

จนมีโครงการพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูงเกิดขึ้นในชุมชน ทำให้พิมพ์ได้เข้ามาฝึกฝนเรียนรู้กับโครงการตั้งแต่การทำอาหาร การดูแลและจัดการโฮมสเตย์ โดยมีความตั้งใจแรกคือการพัฒนาพืชผักท้องถิ่นให้เป็นอาหารที่ถูกปากสำหรับคนที่เข้ามาพักอาศัยได้ แต่เมื่อฝึกฝนไปจนจบโครงการแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมาเกินความตั้งใจแรกของเธอไปมาก

“จากที่เคยคิดว่าจะได้เรียนรู้เรื่องการทำเมนูอาหารจากพื้นท้องถิ่น ก็ได้เรียนรู้เรื่องการประกอบอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบตามฤดูกาล การปรุง มาตรฐานความสะอาด การเลือกใช้อุปกรณ์ การรักษาคุณภาพอาหาร การเล่าเรื่องนำเสนออาหาร การตกแต่งจาน คุณค่าทางโภชนาการ การคำนวณต้นทุน และการรังสรรค์อาหารเมนูพิเศษ”

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการสร้างสรรค์ ‘เรื่องเล่า’ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชุมชนอีกด้วย เช่น การทำไอศกรีมอโวคาโดและเคปกูสเบอรี่ การทำพิซซ่าจากมะเขือเทศเชอรี่ ซึ่งวัตถุดิบในการทำล้วนมีความเกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนอย่างแน่นแฟ้น

“เคฟกูสเบอรี่เป็นผลไม้ที่ช้ำง่าย ปกติเวลาเกษตรกรส่งเคฟกูสเบอรี่ขายจะมีบางส่วนที่เป็นลูกแตกหรือไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะถูกนำไปทิ้งหรือไม่ก็เอาไปเลี้ยงหมู เราไปขอซื้อเพื่อเอามาปั่น ได้ลองนำความรู้จากการอบรมมาทดลองทำไอศกรีมหวานเย็นขายในชุมชน ขายถุงละ 5 บาท ครั้งนั้นทำขายในหมู่บ้านตั้งราคาไม่แพง แจกบ้างกินบ้าง จากต้นทุนที่ซื้อผลสดมากิโลกรัมละ 15 บาท ขายหมดรวม ๆ แล้วได้กิโลกรัมละ 70 บาท แต่ถ้าทำขายให้คนข้างนอกสามารถตั้งราคาได้สูงกว่านี้ ซึ่งก่อนทำโครงการเราไม่มีความรู้ที่จะทำอย่างนี้ได้เลย”

จากตัวอย่างของพิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าโครงการนี้ได้เข้ามาเสริมความรู้และยกระดับทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ทั้งยังช่วยให้คนในชุมชนหันกลับมาใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างเต็มที่ผ่านการนำมาดัดแปลงเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ

“เราอยู่บนดอยอย่างนี้ ถ้าจะลงไปในเมืองข้างล่างไปอบรมหาความรู้ต้องขี่รถไป มีค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง การเดินทางไม่สะดวกปลอดภัย แต่เมื่อมีโครงการเข้ามา มีวิทยากรมาให้ความรู้ เราก็แค่เปิดตัวเองเดินไปรับความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองเท่านั้น”

นอกเหนือจากการพัฒนาตนเองในด้านการรังสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดับในชุมชนแล้ว ตัวโครงการยังติดอาวุธทางความรู้ด้านการเกษตรให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย เพราะในอนาคตเมื่อมีคนจำหน่ายอาหารมากขึ้น ความต้องการวัตถุดิบในการประกอบอาหารก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในระดับต้นน้ำมากกว่าเดิม

สิ่งที่พิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ได้ค้นพบระหว่างการเรียนรู้จากโครงการนับว่าเป็นการต่อเติมความหวังในการสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงบนท้องถิ่นของเธอเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงตัวเธอเองเท่านั้นที่เป็นเรี่ยวแรงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน แต่ยังรวมไปถึงสมาชิกโครงการทั้งหมดที่ได้ผ่านการอบรมมาแล้วทุกคนด้วย