สมจิตร ชาปัญญา คนพิการที่สู้เพื่อพิสูจน์ว่า ‘โอกาส’ คือสิ่งที่คนพิการต้องการมากที่สุด

“สิ่งที่คนพิการต้องการไม่ใช่ความสงสาร
แต่คือโอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ”

ประโยคนี้คือสิ่งที่สกัดออกมาได้หลังจากการฟังเรื่องเล่าของ สมจิตร ชาปัญญา

ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว วัย 47 ปี

สมจิตรมีอาชีพดั้งเดิมคือการตัดเสื้อเย็บผ้า ซึ่งเป็นทักษะที่เธอได้เริ่มฝึกฝนด้วยตัวเองมาตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยสมจิตรได้เล่าย้อนไปถึงเหตุผลที่เลือกเรียนรู้ทักษะชนิดนี้เอาไว้ว่า

“คนพิการก็ต้องทำงาน ต้องพึ่งตัวเองให้ได้จะได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่น แต่ก่อนคนพิการไม่ค่อยมีโอกาสเท่าไร หนังสือก็ไม่ได้เรียน เราก็ฝึกด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 20 ปี ที่อยากเย็บผ้า เพราะเป็นอาชีพที่ทำที่บ้านได้ มีคนเอางานมาให้ทำ ไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอก มีเวลาว่างทำเมื่อไรก็ได้ กลางคืนก็ทำได้ เราเริ่มต้นจากการเย็บผ้าโหลมาก่อน หลังจากนั้นไปเรียนเพิ่มเติมที่ กศน. แล้วฝึกด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์เย็บมาเรื่อย ๆ คนก็เชื่อในฝีมือ”

ค่าแรงการทำงานของสมจิตรตกอยู่ที่ชุดละ 200-300 บาท ซึ่งเป็นราคายุติธรรมที่ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเลือกมาจ้างงานเธอไม่ขาดสาย จนในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เธอถึงกับต้องประกาศหยุดรับงานชั่วคราว เนื่องจากมีงานเข้ามาจนล้นมือ

แต่สถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาการป่วยของคุณแม่ที่อายุมากขึ้น ทำให้เธอต้องลดการเย็บผ้าเพื่อใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สมจิตรจึงสนใจที่จะเรียนรู้ในทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกในการเลี้ยงชีพ

“รายได้จากการตัดเย็บเสื้อสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สบายๆ ไม่เดือดร้อน แต่ก็อยากได้ทักษะความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมบ้าง”

เธอเล่าถึงความนึกคิดก่อนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการสร้างพลังคนพิการประกอบอาชีพของเครือข่ายกลุ่มคนพิการของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ

ด้วยแรงบันดาลใจหลากหลายด้าน รวมถึงความสำเร็จของผู้พิการต้นแบบคนอื่น ๆ ทำให้สมจิตรได้เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างเช่นการนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บชุดมาผลิตเป็นกระเป๋าหลากหลายไซส์ การสานหมวกจากต้นกกไหล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า 100 บาทต่อชิ้นเลยทีเดียว

มากไปกว่านั้นทางโครงการยังได้เปิดโอกาสให้สมจิตรได้ขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนจากชีวิตของตนเองให้ผู้ร่วมโครงการคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้อีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับสมจิตรอย่างมาก

“เมื่อก่อนเป็นคนอ่อนแอมาก เวลามีคนถามถึงความพิการของตัวเองน้ำตาจะไหลก่อน ส่วนใหญ่คนมักถามว่าเป็นอะไร ต้องการอะไรไหม แต่พอได้เล่าความรู้สึกออกไปเรื่อย ๆ แล้วได้กลับมาพูดอีก เดี๋ยวนี้ไม่มีน้ำตาแล้ว เหมือนเราได้ระบายออกไปหมดแล้ว การที่เราได้ออกไปไหนมาไหน ได้พบปะผู้คนมากขึ้น ไปเห็นว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนเรา บางคนลำบากกว่าเราก็มี มันเป็นกำลังใจให้ตัวเราไม่คิดน้อยใจในสิ่งที่เราเป็น”

สมจิตรเล่าถึงผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการและได้พบปะกับเพื่อนผู้พิการคนอื่น ๆ

ทุกวันนี้ถึงแม้สมจิตรจะสามารถรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าตามออร์เดอร์ได้น้อยลง แต่เธอกลับมีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการขายกระเป๋าทำมือและหมวกกกสาน ซึ่งอาชีพเหล่านี้ล้วนทำให้เธอสามารถใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง ในฐานะคนพิการที่หาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริตพร้อม ๆ ไปกับการดูแลคนรอบข้างได้อีกด้วย

“ที่ผ่านมาเป็นความพยายามของเราด้วย เพราะไม่อยากให้คนมาดูถูก อยากทำให้คนอื่นเห็นว่าคนพิการอยู่ด้วยตัวเองได้ หารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ อยากชวนให้คนพิการมาทำงาน อยากให้ใจสู้ หากยังมีแรงให้สู้ จะทำอะไรขอให้คิดบวก อย่ายอมแพ้ง่ายๆ ส่วนคนทั่วไปมักรู้สึกว่าคนพิการเป็นภาระ อยากให้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว คนพิการสามารถหาเลี้ยงและดูแลตัวเองได้ หากได้รับโอกาส”

สมจิตรกล่าวปิดท้ายเอาไว้อย่างคมคาย