สร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านทักษะ e-commerce ในโครงการพัฒนาสมรรถนะเยาวชน โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กรุงเทพ
ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จนปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราแทบทุกด้าน ส่งผลให้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นเหมือนดาบสองคม หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธีก็อาจทำให้เราได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่หากรู้จักใช้อย่างเหมาะสม จะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างได้รายให้แก่ตนเองได้
ในมุมที่มีประโยชน์ อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาทำให้การซื้อ-ขายสินค้าและบริการมีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ตลาด e-commerce ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ของหลายๆ คน ซึ่งจะดีสักแค่ไหน หากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจจะสามารถเรียนรู้การซื้อขายในโลก e-commerce และคว้าโอกาสที่จะก้าวมาเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ได้ตั้งแต่ยังใช้ชีวิตอยู่ในสถานพินิจ เพราะเมื่อพวกเขาได้พ้นจากพื้นที่แห่งนี้ไปแล้ว เขาจะสามารถนำทักษะยุคใหม่ติดตัวไปพัฒนาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และเลี้ยงตัวเองต่อไปในอนาคต
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียน การสอน และการวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย จากเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และมีความสนใจที่จะพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยหวังว่าความรู้ ความสามารถที่มูลนิธิมีนั้น จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและสังคม
จึงเกิดเป็น ‘โครงการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนในสถานพินิจตามมาตรฐานอาชีพด้าน e-commerce’ โครงการที่จะเปิดการเรียนการสอนและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการทำธุรกิจออนไลน์และสมรรถนะด้านอีคอมเมิร์ซให้กับเยาวชนในสถานพินิจ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและความรู้ติดตัวให้แก่เยาวชนสามารถนำไปใช้หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวได้ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เห็นถึงคุณค่าของตัวเองและเติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคม
โครงการฯ ได้วางเป้าหมายของการจัดทำหลักสูตรครั้งนี้โดยยึดจากเยาวชนเป็นหลัก ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนเกิดองค์ความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ ไปจนถึงมีสมรรถนะด้านอีคอมเมิร์ซตามมาตรฐาน ไปจนถึงขั้นตอนลงมือทำ คือ การสร้างร้านค้าออนไลน์ และท้ายที่สุดคือเยาวชนมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเห็นถึงคุณค่าในตัวเอง
ดยแบ่งเนื้อหาในการฝึกสอนเป็น 4 ลำดับด้วยกันคือ
- ภาคทฤษฎี – จะเป็นการฝึกสอนและมอบใบประกาศนียบัตรใน 2 หัวข้อคือ การสร้างธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-commerce
- ภาคปฏิบัติ – จะเป็นการฝึกฝนเกี่ยวกับการทำธุรกิจและสร้างร้านค้าออนไลน์ ให้ผ่านระดับที่ 1 Basic e-Commerce โดยมีคุณสมบัติดังนี้ มีความรู้พื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซ สามารถสร้างเพจร้านค้าออนไลน์ จำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้ นำสินค้าที่ผลิตเอง และ/หรือนำสินค้าจากชุมชน มาจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ได้
- ปฏิบัติงานจริง – เยาวชนที่ผ่านการอบรมในสองลำดับแรกมาแล้วจะได้ปฏิบัติการจริงในฐานะผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก เช่น การออกแบบหน้าร้าน การสร้างร้านค้าออนไลน์ การเขียนเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การถ่ายภาพสินค้า เป็นต้น
- การทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ – เยาวชนที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรธุรกิจออนไลน์ จะได้รับการทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพด้านอีคอมเมิร์ซของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นเครื่องการันตีที่สำคัญสำหรับการทำงานภายหลังออกจากสถานพินิจไปแล้ว
ตลอดกระบวนการทำงานที่ผ่านมา โครงการมีการจับมือกับภาคีเครือข่ายมากมาย เพื่อร่วมกันผลักดันศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและพัฒนา (CCDKM มสธ.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
ท้ายสุด หากเป้าหมายที่วางไว้ลุล่วงไปอย่างราบรื่น เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการฯ จะมีความรู้ความสามารถในด้าน e-commerce
เพราะเมื่อเด็กทุกคนเติบโตไป มีอาชีพ มีศักยภาพในตัวเอง และมีรายได้ที่เพียงพอ พวกเขาก็จะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และพร้อมเดินหน้า ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพในสังคมต่อไป
เมื่อเด็กทุกคนเติบโตไป มีอาชีพ มีศักยภาพในตัวเอง และมีรายได้ที่เพียงพอ พวกเขาก็จะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาสมรรถนะของเยาวชนในสถานพินิจตามมาตรฐานอาชีพด้าน e-commerce
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เยาวชนเกิดความรู้ ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ ตลอดจนมีสมรรถนะด้านอีคอมเมิร์ซตามมาตรฐานอาชีพ
- เยาวชนมีพื้นที่ทดลองปฏิบัติตามจริงและเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
- เยาวชนเห็นคุณค่าและศักยภาพที่มีในตนเอง นำไปสู่ความภาคภูมิใจและสร้างช่องทางการหารายได้อย่างยั่งยืน