สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้ฯ จัดโครงการปรับตัวรับผลกระทบ COVID-19 เพื่อชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ยกระดับอาชีพขายอาหารเพื่อพึ่งพาตัวเอง

กรุงเทพมหานคร อาหาร

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน และกรุงเทพก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาหารอร่อยให้เลือกสรรมากมายหลายประเภท ทั้งยังสามารถหากินได้อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทว่าหลังจากที่เกิดวิกฤตเชื้อไวรัสโคโรนาหรือวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้จำนวนคนที่บริโภคอาหารนอกบ้านลดปริมาณลงและรวมถึงจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ลดเหลือศูนย์ 

วิกฤตการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจหลายประเภท รวมถึงธุรกิจขายอาหารของชาวชุมชนบริเวณริมทางรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร ชุมชนที่ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะกับการค้าขาย เพราะมีทั้งกลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มคนพักอาศัยและกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ แต่หลังจากที่เกิดวิกฤตนั้นทำให้พวกเขาบางคนหมดโอกาสในการค้าขายและบางคนก็มีรายได้ไม่เพียงพอ

สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อชุมชน ซึ่งเป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้มีความรู้ความชำนาญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน ได้สนใจถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาและยกระดับการประกอบอาชีพทำอาหารขายหลังวิกฤตโควิด-19 ในชุมชนเมืองริมทางรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร” ขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาทักษะชีวิตของชาวชุมชนให้สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยสมาคมฯ เล็งเห็นศักยภาพของชุมชนว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีพื้นที่จัดประชุมและร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคนในชุมชน และที่สำคัญพื้นฐานเดิมที่คนในชุมชนคุ้นเคยกันอยู่แล้วคือเรื่องการประกอบอาชีพขายอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ‘ต้นทุน’ ที่สำคัญและต่อยอดโอกาสให้กับชุมชนได้ดี

โดยสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขตราชเทวี, กองกำกับการตำรวจรถไฟ ส.รฟ.มักกะสัน กก.1 บก.รฟ. และศูนย์ฝึกอาชีพ กรุงเทพมหานคร ผลักดันให้เกิดกิจกรรมพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้ว่างงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 50 คน

โครงการฯ จะเริ่มจัดการอบรมตั้งแต่การวางแผนชีวิตและอาชีพเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นภาพรวมของการพัฒนาตัวเอง จากนั้นจะเป็นการอบรม “ประยุกต์ใช้ ICT และสื่อออนไลน์ในการประกอบอาชีพทำอาหารขาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการขายอาหารของชุมชน เนื่องจากจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายค้นพบช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น บนพื้นที่ออนไลน์และสามารถโฆษณาร้านให้กับบริการขนส่งอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ร้านสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนเลือกที่จะกินอาหารนอกบ้านน้อยลง

นอกจากนี้โครงการยังจัดให้มีการอบรมปฏิบัติการการทำอาหารตามความสนใจจำนวน 8 ครั้ง เพื่อพัฒนาเทคนิคการทำอาหารให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการหาวัตถุดิบและคำนวนต้นทุนด้วย โดยในช่วงท้ายของโครงการ จะมีการสนับสนุนทุนอาชีพเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีทุนตั้งต้นในการพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเอง

ในอนาคต เมื่อโครงการได้สิ้นสุดลง สิ่งที่คาดหวังไว้คือกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติ เนื่องจากอาชีพผู้ประกอบการอาหารเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่และความสามารถของชุมชน เพราะอยู่ในทำเลทีมีคนพลุกพล่าน สามารถสร้างรายได้ที่พอเพียงสำหรับการใช้ภายในครัวเรือน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการรายรับรายจ่ายพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้เพื่อให้พวกเขาพึ่งพาตนเองได้ และกลับมาใช้ชีวิตได้ดั่งปกติ

พื้นฐานเดิมที่คนในชุมชนคุ้นเคยกันอยู่แล้วคือเรื่องการประกอบอาชีพขายอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ‘ต้นทุน’ ที่สำคัญและต่อยอดโอกาสให้กับชุมชนได้ดี

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาและยกระดับการประกอบอาชีพทำอาหารขายหลังวิกฤตโควิด 19 ในชุมชนเมืองริมทางรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร

ชื่อหน่วยงาน

สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อชุมชน

จังหวัด

กรุงเทพมหานคร

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวจงกลกร สิงห์โต
โทร: 061-449-6498

เป้าประสงค์โครงการ

เพิ่มทักษะความหลากหลายในการประกอบอาชีพการทำอาหารขาย และพัฒนาทักษะการวางแผนชีวิต เช่น แผนการงาน เส้นทางการประกอบอาชีพ เป็นต้น ให้กับกลุ่มเป้าหมาย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส