สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเปิดหลักสูตรเพิ่มมูลค่าสับปะรดที่ตำบลชุมแสง จังหวัดระยอง ต่อยอดการแปรรูปสู่ผลไม้นานาชนิด

ระยอง การแปรรูปผลิตภัณฑ์

จังหวัดระยอง คือจังหวัดที่ผลิตสับปะรดได้มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ด้วยพื้นที่ของจังหวัดมีความอุดมสมบูรณ์ของทั้งดินและน้ำ การปลูกสับปะรดของที่นี่จึงมีความโดดเด่นกว่าที่อื่นทั้งในด้านรสชาติและจำนวนผลผลิต โดยมีบ้านแก่งหวาย ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกและแปรรูปสับปะรดเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสำคัญ นอกจากนี้พื้นที่ของหมู่บ้านยังเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรอีกมากมาย เช่น การทำสวนผลไม้ การทำไร่มันสำปะหลัง สวนทุเรียน ปลูกยางพารา นำมาแปรรูปเกิดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่หลากหลาย จึงเกิดเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ของชุมชนขึ้น แต่ชาวชุมชนนั้นยังขาดทุนทางความรู้ และมีรายได้ไม่เพียงพอ

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สถาบันที่ใกล้ชิดกับชุมชนและมีประสบการณ์ในด้านการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาสังคม เล็งเห็นถึงต้นทุนที่บ้านแก่งหวายมีอย่างต้นทุนทางพื้นที่ ต้นทุนทางความรู้และต้นทุนทางทรัพยากรมนุษย์ จึงได้จัดทำ ‘โครงการการเพิ่มมูลค่าสับปะรดและผลิตภัณฑ์จากสับปะรดชุมชน ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง’ ขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพิ่มช่องทางการขาย และเพิ่มมูลค่าสินค้าสับปะรดให้มากยิ่งขึ้น เพราะโครงการฯ มองว่าในการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน โดยดึงศักยภาพเดิมที่พวกเขามีอยู่มาใช้ร่วมกับการพัฒนา ต่อยอดให้พวกเขามีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ที่โครงการอยากร่วมพัฒนา ได้แก่ กลุ่มผู้มีอาชีพค้าขาย ที่มีความสามรถในการผลิตสินค้าระดับควรเรือน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เข้าถึงช่องทางการขายที่หลากหลายและขยายปริมาณการผลิตให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ กลุ่มเกษตรกร ที่มีฝีมือในการเพาะปลูกแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 กลุ่มอาชีพรับจ้างและกลุ่มผู้ว่างงาน ที่ขาดความรู้ความสามารถเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง 

หลังจากนั้น โครงการจึงได้ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมความต้องการของชุมชน เช่น กิจกรรมการพัฒนาแปรรูปสับปะรด เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้กระบวนการแปรรูปและสามารถพัฒนานำไปใช้กับผลผลิตอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องจำกัดว่าเป็นสับปะรดเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน กิจกรรมเชิงปฏิบัติการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนได้ลองลงมือออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบและเข้าใจหลักการออกแบบเพื่อต่อยอดให้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้ กิจกรรมการอบรมเรื่องกระบวนการทำธุรกิจเบื้องต้น เป็นกิจกรรมที่เตรียมพร้อมชุมชนเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีการวางแผนธุรกิจ หาช่องทางการขายเป็นไปจนถึงการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้รู้กำลังในการใช้จ่ายต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อยกระดับฝีมือให้มีทักษะเฉพาะทางและพึ่งพาตนเองได้ โครงการฯ ยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนวังจันทร์ เพื่อจัดหลักสูตรเกษตรนวัต หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้พัฒนาทักษะอาชีพและพัฒนางานด้านเกษตรในพื้นที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้กับชุมชน

ในท้ายที่สุด ความสำเร็จที่โครงการฯ มุ่งหวัง คือ ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการรวมกลุ่มอาชีพที่แข็งแรงและมีรายได้เพียงพอ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าชุมชนมีองค์ความรู้และพัฒนาตั้งแต่กระบวนการแปรรูป กระบวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงกระบวนการขายได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้และยังสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับชุมชนรอบข้างได้อีกต่อไป

โครงการฯ มองว่าในการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน โดยดึงศักยภาพเดิมที่พวกเขามีอยู่มาใช้ร่วมกับการพัฒนา ต่อยอดให้พวกเขามีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การเพิ่มมูลค่าสับปะรดและผลิตภัณฑ์จากสับปะรดชุมชน ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ชื่อหน่วยงาน

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จังหวัด กรุงเทพมหานคร

จังหวัด

ระยอง

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: อาจารย์ณัฐพงศ์ วีระทวีพร
โทร: 089-4862497

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปสับปะรดและผลิตภัณฑ์จากสับปะรด
  2. กลุ่มเป้าหมายเกิดการรวมกลุ่มอาชีพแปรรูปสับปะรดผลิตภัณฑ์จากสับปะรด

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส