วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและสมุนไพรพื้นบ้าน เปลี่ยนผักตบชวาวัชพืชทางน้ำเป็นแหล่งมั่งคั่งของอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ อื่น ๆ

 

ที่ใดมีแหล่งน้ำที่นั่นย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ ดังเช่นพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง ช่วงไหลผ่านอำเภอท่าตูมและอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ แม่น้ำมูลจะไหลคดโค้งทำให้ในฤดูน้ำหลากสายน้ำจะเชื่อมถึงกันเกิดความอุดมสมบูรณ์ของทั้งพืชและสัตว์ ส่วนเมื่อถึงฤดูแล้งแม้น้ำจะลดลงแต่พื้นที่ก็ยังคงชุ่มน้ำ เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์บกและเกิดพืชที่เป็นอาหารมากมาย แต่เมื่อยุคสมัยและจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อสมดุลทางธรรมชาติ แม่น้ำที่เคยไหลเชี่ยวกลับช้าลง มีวัชพืชจำนวนมาก โดยมีผักตบชวา วัชพืชเติบโตไวตัวการสำคัญที่ส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตคนริมน้ำ

แล้วจะดีกว่าไหมถ้านำผักตบชวาวัชพืชเติบโตไวมีจำนวนมากเช่นนี้มาสร้างรายได้

วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและสมุนไพรพื้นบ้าน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตระหนักถึงปัญหาของผักตบชวาในแม่น้ำที่ทำให้แหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขินและปัญหาการขาดแคลนรายได้ของคนในพื้นที่ จึงมีความสนใจที่อยากเปลี่ยนผักตบชวาวัชพืชไร้คุณค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ประกอบกับที่วิสาหกิจชุมชนฯ เล็งเห็นว่าในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น มีชาวบ้านจำนวนมากเดินทางกลับบ้านเกิด ทั้งยังเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะร่วมมือกันสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติได้

ด้วยเหตุนี้ วิสาหกิจชุมชนฯ จึงได้จัดตั้ง โครงการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากผักตบชวาในแหล่งน้ำสาธารณะ (ผักตบชวาทองคำ) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนฐานราก โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ 2.เพื่อกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางเดินน้ำ 3.เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์และอาหารสัตว์จากผักตบชวา 5.เพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้และแปลงสาธิตขึ้นในพื้นที่ และ 6.เพื่อให้เกิดหลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาส่งทอดให้คนรุ่นใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ชาวชุมชนอำเภอท่าตูมและอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งน้ำ 9 แหล่ง ทั้งหมด 29 หมู่บ้าน

สำหรับการดำเนินงานนั้น ทางโครงการฯ ได้ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อประหยัดเวลาในการลงมือปฏิบัติของชาวชุมชน ผ่านการนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน (พลังง้วนดิน) กระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในระยะเวลาสั้น ๆ หรือการบำบัดเพื่อฟื้นฟูดินและน้ำในพื้นที่ โดยมีแปลงสาธิตในพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นการจัดรูปที่ดินตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ผ่านการประยุกต์ ใช้พื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามสัดส่วนการจัดการแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ปศุสัตว์  และการประมง 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ถือเป็นการปรับแนวคิดของคนในพื้นที่ให้รู้จักการวางแผน จากนั้นค่อยลงมือปฏิบัติ ทำให้ตนเองพอกินพอใช้ และเมื่อเหลือจึงแบ่งขาย การนำผักตบชวามาแปรรูปนั้นจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวาและสามารถพลิกโอกาสสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างฉับไว ออกดอกออกผลเป็นผลลัพธ์งดงาม 

อย่างไรก็ดี หลังจากสิ้นสุดโครงการฯ แล้ว ปลายทางที่คาดหวังว่าจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้นการที่แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปผักตบชวา แต่ที่มากกว่านั้น คือการที่ชุมชนมีภูมิปัญญาเป็นตัวเองสำหรับจัดการกับวัชพืช และนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบสร้างเป็นผลผลิตหรือประกอบอาชีพจนเกิดเป็นรายได้อย่างยั่งยืน

เพราะทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนมีแกนนำที่ดี มีผู้คนที่ให้ความร่วมมือ มีเครือข่ายอาหารปลอดภัยไปจนถึงมีศูนย์เรียนรู้ที่เป็นมรดกของพื้นที่ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

ปลายทางที่คาดหวังว่าจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้นการที่แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปผักตบชวา แต่ที่มากกว่านั้น คือการที่ชุมชนมีภูมิปัญญาเป็นตัวเองสำหรับจัดการกับวัชพืช และนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบสร้างเป็นผลผลิตหรือประกอบอาชีพจนเกิดเป็นรายได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากผักตบชวาในแหล่งน้ำสาธารณะ (ผักตบชวาทองคำ) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนฐานราก

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและสมุนไพรพื้นบ้าน

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายพราวุฒิ ไวรวัจนกุล
โทร: 06 3757 9915

เป้าประสงค์โครงการ

1.สร้างรายได้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ จากค่าแรงในการจัดเก็บผักตบชวาสด 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยประมาณการณ์ว่าจะมีผักตบชวาในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 144 ตัน หรือ 144,000 กิโลกรัม ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 144,000 บาท    

2.มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 450 คน หรือประมาณ 200 ครัวเรือน

3.จำกัดผักตบชวาที่ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินหรือกีดขวางทางเดินน้ำ ไม่น้อยกว่า 200 ตัน หรือ 200,000 กิโลกรัม จากแรงงานกลุ่มอาสาต่างๆ 

4.มีปุ๋ยอินทรีย์หรืออาหารสัตว์ ที่ผลิตจากการแปรรูปผักตบชวา ปริมาณไม่ต่ำกว่า 80 ตัน ไว้ใช้เองในครัวเรือนเป็นหลัก ช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถแบ่งปันหรือจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป

5.เกิดแหล่งเรียนรู้และแปลงสาธิต ไม่น้อยกว่า 6 ฐาน

6.เกิดแผนพัฒนาท้องถิ่น /ธรรมนูญตำบล /หลักสูตรท้องถิ่น /ข้อบัญญัติท้องถิ่น อย่างน้อย 1 แผนงาน  

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส