สภาองค์กรชุมชนตำบลสังคม พัฒนาอาชีพเกษตรกรและประมง รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสังคมในตำบลสังคม จังหวัดหนองคาย

หนองคาย เกษตรกรรม

เมื่อชุมชนใดมีแหล่งน้ำ ชุมชนนั้นก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีปริมาณพืชและสัตว์ที่เป็นแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งยังกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของมนุษย์ ดังเช่นพื้นที่ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่รายล้อมไปด้วยหุบเขาน้อยใหญ่และมีแหล่งน้ำที่สำคัญอย่างริมน้ำโขง ส่งผลให้ชาวชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพโดยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก เช่น อาชีพเกษตรกรและการทำประมง แต่ด้วยยุคสมัยและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่เปลี่ยนไปซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำโขง กล่าวคือ ชุมชนพึ่งพาแหล่งอาหารจากธรรมชาติไม่ได้เหมือนเดิม 

ประกอบกับการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (covid-19) ยิ่งส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่แถวนั้นลำบากมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ มีหลายครอบครัวต้องปิดกิจการลง หรือถูกเลิกจ้างทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและชำระหนี้สิน รวมถึงการเกิดแรงงานคืนถิ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่เคยมีแต่ไม่เพียงพออยู่แล้วยิ่งลดลงไปอีก 

จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าวทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลสังคม จังหวัดหนองคาย เกิดแนวคิดที่อยากจะพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชาวประมงและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่โดยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้สู่การปฏิบัติจริง เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ในอนาคต 

สภาองค์กรฯ จึงจัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมชุมชนลุ่มน้ำโขงและทำตลาดออนไลน์ ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ขึ้น โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะอาชีพของเกษตรกรและชาวประมงในตำบลให้มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐาน จากนั้นจึงแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของแต่ละครอบครัวโดยการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีเงินออมเหลือเก็บมากพอ และที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้กับคนในชุมชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวทางโครงการฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้ครอบคลุมการเรียนการสอนในพื้นที่ดำเนินงาน 7 หมู่บ้านในตำบลสังคม 

โดยโครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่มองจากรากฐานของชุมชนเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลพื้นฐานที่ตำบลมีไปจนกระทั่งขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การฝึกอบรมเพาะเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การเพาะพันธุ์ปลาและการทำอาหารปลาจากวัสดุท้องถิ่น การทำการเกษตรแบบผสมผสานตามความเหมาะสมของพื้นที่ การแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างมูลค่า การส่งเสริมการปลูกกล้วยเพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้า OTOP การเพิ่มทักษะเพื่อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

โดยการผลักดันทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับความรู้มือกับภาคีเครือข่ายที่คุ้นเคยกับชุมชน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานประมงจังหวัดที่คอยให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับการทำการเกษตรและการทำการประมงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานหนองคายที่ช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเพื่อเป็นรายได้เสริมสำหรับคนว่างงานหรือเกษตรกรในช่วงนอกฤดูทำนา และสำนักงานพัฒนาชุมชนที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ตามแบบวิถีชีวิตเดิมองคนในพื้นที่เพื่อต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวในอนาคต 

จากการร่วมกิจกรรมนี้โครงการฯ จึงมุ่งหวังว่าชุมชนจะยืนหยัดได้ด้วยต้นทุนที่ตนเองมีอยู่ สามารถเพิ่มแหล่งอาหารให้พอกับความต้องการของคนชุมชน มีรายได้ที่แน่นอน สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสังคม และกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไปได้ในอนาคต

จากการร่วมกิจกรรมนี้โครงการฯ จึงมุ่งหวังว่าชุมชนจะยืนหยัดได้ด้วยต้นทุนที่ตนเองมีอยู่ สามารถเพิ่มแหล่งอาหารให้พอกับความต้องการของคนนชุมชน มีรายได้ที่แน่นอนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไปได้ในอนาคต

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมชุมชนลุ่มน้ำโขงและทำตลาดออนไลน์ ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ชื่อหน่วยงาน

สภาองค์กรชุมชนตำบลสังคม

จังหวัด

หนองคาย

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายวรัท บุตรเสรีชัย
โทร: 08 8516 1570

เป้าประสงค์โครงการ

  1. มีธนาคารเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเกษตรริมโขง จำนวน 1 แห่ง
  2. มีแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ในแม่น้ำสาขาในพื้นที่ตำบลสังคม จำนวน  4 แห่ง
  3. มีการจำหน่ายผลผลิตด้านเกษตรกรรมและประมงของกลุ่มเป้าหมายออกสู่ตลาดในพื้นที่และนอกพื้นที่ตำบล
  4. กลุ่มเป้าหมายและคนในชุมชนได้บริโภคอาหารที่ดีและปลอดสารเคมีส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายดี
  5. มีแหล่งอาหารสำรองให้กับครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายและคนในชุมชน สามารถรับมือกับผลกระทบจากภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
  6. กลุ่มเป้าหมายมากกว่าร้อยละ 80 มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีรายจ่ายลดลง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส