กลุ่มชาวนาอินทรีย์ตำบลกุดประทาย เตรียมความพร้อมสู่วิถีชีวิตใหม่ ใส่ใจสุขภาพ เกษตรปลอดภัยที่ตำบลกุดประทาย จังหวัดอุบลราชธานี

อุบลราชธานี เกษตรกรรม

การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม เป็นวิถีที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายอยู่บนฐานของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์คือการปรับสมดุลให้กับธรรมชาติอย่างไรก็ดี ระบบเกษตรอินทรีย์นั้น มีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกโดยใช้สารเคมีเร่ง ต้องได้รับความใส่ใจและความดูแลเป็นพิเศษ 

เกษตรกรในตำบลกุดประทาย อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จากเดิมมีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมกล่าวคือ นิยมใช้สารเคมี แต่หลังจากที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสารเคมีตกค้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งยังลุกลามไปถึงการเกษตรส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม จึงไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ตามต้องการ จึงเกิดการรวมกลุ่ม ชาวนาอินทรีย์ตำบลกุดประทาย ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

แม้ชุมชนจะมีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงวิถีเกษตรกรรมตนเองให้เป็นในลักษณะระบบการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เมื่อ ชุมชนพบว่าหลังจากเปลี่ยนระบบการเกษตรที่ใช้สารเคมีมาเป็นระบบการเกษตรอินทรีย์กลับทำให้พวกเขาจะได้ผลผลิตน้อยลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาสามารถขายผลผลิตให้เพียงพอต่อการเป็นรายได้หลักของตนเอง ซ้ำร้ายกว่านั้น ชุมชนยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 การส่งออกจากผลผลิตทางเกษตรจึงยากเข้าไปใหญ่ เกษตรกรจำต้องต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม จากปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มชาวนาฯ จึงอยากบรรเทาความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ด้วยการปลูกผักอินทรีย์ระยะสั้น ภายใต้โจทย์ใหญ่คือ การได้ผลผลิตเร็วและนำออกขายหารายได้ให้ไวขึ้น 

โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการปลูกผักอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้ จึงเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนและเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันให้เกษตรกรในตำบลกุดประทายสามารถไปถึงเป้าหมายที่ต้องการดังกล่าวได้สำเร็จภายใต้เงื่อนไขการก้าวเข้าสู่ยุควิถีชีวิตใหม่ (New normal) โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาหารซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก 

ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ได้มีการออกแบบหลักสูตรบนฐานต้นทุนเดิมของชุมชน แต่ต้องสร้างความต่อเนื่องของรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรไปควบคู่กัน ซึ่งทั้งสามที่กล่าวไปนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกรยุคใหม่ที่ควรรู้และต้องเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อให้การทำเกษตรที่พึ่งสารเคมีหมดไป 

ด้วยเหตุนี้เนื้อหาของการอบรมส่วนใหญ่จึงครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสำหรับการปลูกผักอินทรีย์ การอบรมการปลูกผักอินทรีย์ การอบรมเรื่องมาตรฐานการปลูกผักอินทรีย์ และการฝึกปฏิบัติการตรวจแปลง และการกำกับควบคุมมาตรฐานการปลูกผักอินทรีย์ การศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านการปลูกผักอินทีรย์ หรือ ปฏิบัติการเรื่องการตลาดผักอินทรีย์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากพื้นที่อำเภอเดชอุดม จำนวน 8 หมู่บ้าน โดยแบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้พิการ 

เพราะท้ายสุดแล้ว นอกเหนือจากการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว โครงการฯ ยังคาดหวังว่า องค์ความรู้ต่าง ๆ จะสามารถพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้เป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของชุมชน โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติในการทำการเกษตร วางแผนการผลิตที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมที่คนในชุมชนต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะนอกจากตัวเราจะก้าวหน้าแล้วหากคนทั้งชุมชนก้าวหน้าไปด้วยกันก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ภายใต้เงื่อนไขการก้าวเข้าสู่ยุควิถีชีวิตใหม่ ความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ โครงการฯ จึงมองเห็นว่าาต้นทุนที่ชุมชนมีสามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและเทรนด์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการปลูกผักอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มชาวนาอินทรีย์ตำบลกุดประทาย

จังหวัด

อุบลราชธานี

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอรุณ วรกากุล
โทร: 06 2908 9551

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายได้พัฒนาทักษะการปลูกผักอินทรีย์ 
  2. เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับสมาชิกในชุมชน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,000   บาท/คน/เดือน
  3. ทำให้เกิดเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบในชุมชน 
  4. ชุมชนรู้จักพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งขั้นตอนการผลิต การหาปัจจัยช่วยในการผลิต

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส