กลุ่มจัดการขยะบ้านสร้อยศรีฯ เพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์โดยการสร้างอาชีพจากขยะนำรายได้เข้าสู่บ้านสร้อยศรีพัฒนา จังหวัดพะเยา

พะเยา การแปรรูปผลิตภัณฑ์

ขยะอินทรีย์ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เกิดจากธรรมชาติของพื้นที่และการทำเกษตรกรรม ในหลายพื้นที่ถูกกำจัดโดยการเผา เพราะเป็นวิธีการจัดการกับเศษใบไม้กิ่งไม้ที่ง่ายที่สุด แต่กลับเป็นการเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่โดยไม่รู้ตัวและเป็นการใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ได้น้อยที่สุด

บ้านสร้อยศรีพัฒนา ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง โดยรายได้เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนต่ำทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนรายได้ เนื่องจากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรต่ำ นอกจากนั้นแล้วบ้านสร้อยศรีพัฒนานั้นยังมีการปกครองแบ่งออกเป็น 3 คุ้ม โดยหัวหน้าแต่ละคุ้มจะดูแลสมาชิกภายในของตนเอง และมีการรวมกลุ่มทุนทางสังคมถึง 9 กลุ่ม

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มจัดการขยะ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบลจุน ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะ กศน.ตำบลจุน ให้การส่งเสริมอาชีพการจัดการขยะ รพ.สต. ตำบลบ้านศรีมาลา ที่ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขกับคนในพื้นที่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนให้ความสนใจที่จะร่วมมือพัฒนากลุ่มจัดการขยะให้สามารถเป็นกลุ่มสร้างรายได้ในพื้นที่

โดยที่ผ่านมากลุ่มจัดการขยะบ้านสร้อยศรี ม.16 มีการคัดแยกขยะและนำไปกำจัดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1.ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก จัดการโดยนำมาทำปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ลดต้นทุนในการทำการเกษตร โดยยกเว้นกิ่งไม้และใบไม้ใหญ่ที่ย่อยสลายยากจะทำการเผา 

2.ขยะทั่วไป จัดการโดยการแยกขยะเพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ 

3.ขยะรีไซเคิล ใช้วิธีจัดการแบบเดียวกับขยะทั่วไป

4.ขยะอันตราย จัดการโดยรวบรวมไว้ ณ จุดทิ้งขยะอันตรายในหมู่บ้านเพื่อส่งไปทำลายเดือนละครั้ง  

จากการดำเนินการของกลุ่มกำจัดขยะหมู่บ้านที่มีระบบการจัดการตามข้างต้นได้พบประเด็นที่น่าสนใจว่า การจัดการขยะอินทรีย์อย่างใบไม้และกิ่งไม้นั้นยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเผาทำลายขยะประเภทนี้อยู่

จากประเด็นนี้ โครงการจึงเห็นว่าแนวทางจัดการขยะอินทรีย์ของคนชุมชนยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้ กลุ่มจัดการขยะบ้านสร้อยศรี ม.16 จึงได้จัดตั้ง โครงการการส่งเสริมอาชีพจากการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าจากขยะในชุมชน ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและผู้มีความรู้ความชำนาญเข้ามาพัฒนาชุมชนเพื่อให้มีการจัดการขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว

แนวคิดการสร้างมูลค่าจากขยะอินทรีย์ของโครงการแบ่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 

1.ปุ๋ยชีวภาพ ที่จะนำเอาขยะเข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพื่อทำให้ขยะเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกรลงได้ 

2.ภาชนะบรรจุอาหาร หากมีขยะส่วนไหนที่ไม่เหมาะสมกับการนำไปผลิตเป็นปุ๋ย ก็จะหรือนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่าง ถ้วยหรือจาน ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง 

ผลิตภัณฑ์ทั้งสองรูปแบบนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางหนึ่งแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเปลี่ยนจากของที่ไม่มีค่าให้สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในชุมชน

เบื้องต้นการดำเนินงานของทางโครงการฯ นั้นจึงได้จัดทำหลักสูตรครอบคลุมความต้องการของพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มกันเพื่อชี้แจงการดำเนินงานของโครงการฯ กล่าวคือ บอกจุดประสงค์ของโครงการฯ ให้สมาชิกทราบอย่างชัดเจน จากนั้นพาสมาชิกศึกษาดูงานการจัดการขยะอินทรีย์เพื่อให้สมาชิกเห็นภาพมากที่สุด และสุดท้ายคือการอบรมเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับสมาชิกในโครงการฯ โดยมีเนื้อหา เช่น การอบรมการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ การขึ้นรูปถ้วยจานจากขยะอินทรีย์และการอบรมให้ความรู้ด้านการตลาด 

โดยตั้งเป้าประสงค์ว่า ในท้ายสุดแล้วบ้านสร้อยศรีพัฒนาในอนาคตจะต้องมีระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่ยั่งยืน เกิดกลุ่มระบบการจัดการขยะอินทรีย์ในพื้นที่และมีรายได้ ลดต้นทุนการผลิต สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานทุนเดิมของชุมชนเอง

ในท้ายสุดแล้วบ้านสร้อยศรีพัฒนาในอนาคตจะต้องมีระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่ยั่งยืน เกิดกลุ่มระบบการจัดการขยะอินทรีย์ในพื้นที่และมีรายได้ ลดต้นทุนการผลิต สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานทุนเดิมของชุมชนเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การส่งเสริมอาชีพจากการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าจากขยะในชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มจัดการขยะบ้านสร้อยศรี ม.16

จังหวัด

พะเยา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอารัญ น้อยเอ้ย
โทร: 08 4806 2469

เป้าประสงค์โครงการ

  1. การจัดการขยะก่อให้เกิดการใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติและปุ๋ยอินทรีย์ในเกษตรกร
  2. สภาพแวดล้อมบ้านสร้อยศรีพัฒนาสสะอาด
  3. เพิ่มรายได้ลดต้นทุนการผลิต
  4. เพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส