ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา เปิดคอร์สสอนทักษะอาชีพหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยดึงศักยภาพของแรงงานด้อยโอกาสให้นำออกมาใช้อย่างเต็มที่

นครราชสีมา การแปรรูปผลิตภัณฑ์

สร้างงานจาก ‘ทุนชุมชน’ สร้างความสุขที่พอเพียง

เมื่อโลกเปลี่ยนไปตามกระแสทุนนิยม ผู้คนจึงเลือกที่จะละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมืองมากกว่าการสร้างงานจากทรัพยากรในท้องถิ่น ขณะที่การเกษตรก็มุ่งไปที่ปริมาณผลผลิต ทั้งการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งปัญหาหนี้สิน สุขภาพ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันข้างหน้าพวกเขาอาจจะไม่สามารถใช้สินทรัพย์จากธรรมชาติเหล่านี้ในการสร้างรายได้อีกต่อไป

เพื่อดึงชาวบ้านให้หวนกลับมาเห็นคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น และใช้วิถีชีวิตที่พอดีกับตนเอง ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน โดยหวังนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความสุขในชีวิตอย่างพอเพียง

 

ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา เลือกดำเนินงานโครงการเสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน ในพื้นที่ 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ในอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ตำบลตลาดไทรและตำบลโนนตูม โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายไว้ 50 คน เน้นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ 

ในการอบรม กลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คน จะต้องเข้าอบรมหลักสูตรทั้งหมด 20 วัน โดย 5 วันแรก เป็นการปรับทัศนคติ ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘สายธารชีวิต’ เพื่อให้ทุกคนได้ลองทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หลังจากปรับทัศนคติเพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการเรียนรู้แล้ว โครงการฯ ได้เดินหน้าจัดอบรม ‘ทักษะทางการเกษตร’ โดยเน้นการสร้างอาชีพจากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และให้ความรู้เชิงลึกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดย กระบวนการอบรมทักษะการเกษตรมีมากถึง 30 วิชา ตามที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ซึ่งแต่ละวิชาจะมุ่งให้ความรู้เชิงลึกตั้งแต่การปลูก แปรรูป และขาย 

อย่างไรก็ดี ในช่วงอบรมนั้น ตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พอดี ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มกันไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีสื่อสารผ่านไลน์แทน แต่พอเริ่มลงพื้นที่ได้ ทีมงานจะลงไปพบกลุ่มเป้าหมายทีละหมู่บ้าน เรียกมาอบรมเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม จะมีการสอนเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ทำปุ๋ย ทำฮอร์โมนจากจุลินทรีย์แบบครบวงจร เมื่อจบการอบรมทุกคนจะได้รับฮอร์โมนจากจุลินทรีย์กลับไปใช้ เมื่อใช้แล้วได้ผลก็ต้องทำต่อเนื่องทันที

นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่องการขยายพันธุ์พืช การตอน การเปลี่ยนยอด การเสริมราก การเพาะเมล็ดไม้ผล ไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ต้นสะเดา ต้นประดู่ ไม้แดง โดยจะสอนตั้งแต่การเก็บเมล็ดมาเพาะพันธุ์เองเพื่อลดต้นทุน เมื่อเพาะเป็นกล้าไม้ก็สามารถปลูกต่อหรือขายต้นกล้าก็ได้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากทักษะที่ได้จากการอบรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์ไม้ ต้นไผ่ กล้วยฉาบ และกล้วยนึ่ง โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจะถูกปันส่วนไปให้กับสมาชิกทุกคน

ดิเรก พิทักษ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเล่าว่า “จากที่ดินที่ว่างเปล่าของครอบครัว ทุกวันนี้ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์กล้าไม้ ซึ่งช่วยสร้างกำลังใจ รายได้ และความสุขให้กับตัวเองและคนที่บ้านได้”

ผลลัพธ์จากกลุ่มเป้าหมายอย่างเช่นคุณดิเรก สะท้อนให้เห็นว่าองค์ความรู้ที่โครงการได้เข้าไปอบรมและฝึกฝนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะในแง่ของการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่พร้อมสามารถสร้างอาชีพและพึ่งพาตนเองได้

ในปัจจุบัน หลังจากที่โครงการได้จบลง หน่วยงานพัฒนาได้พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับการอบรมได้เกิดการเรียนรู้และมีทักษะติดตัวที่จะทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ในการต่อยอดศักยภาพของตัวเอง และที่สำคัญคือความเป็นไปได้เหล่านั้นยังเกิดขึ้นจากต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชนเองด้วย ทำให้ภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความชัดเจนมากขึ้นสำหรับอนาคต

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

เสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา

จังหวัด

นครราชสีมา

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสุวัฒนชัย จำปามูล
โทร: 098-584-6008

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส ให้มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นทีม
  2. เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยเน้นการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  3. เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
  4. เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ว่างงาน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส