ฝึกเยาวชนในสถานพินิจ จังหวัดนครพนม ให้เท่าทันชีวิตวิถีใหม่ เข้าถึงหลักสูตรช่างอุตสาหกรรมต่อยอดสู่แรงงานมืออาชีพ

นครพนม งานช่าง

หลังจากผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลต่อผู้คนหลายๆ อาชีพ รวมถึงสถานประกอบการ ห้างร้านก็เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องมีการปรับตัวและดำเนินชีวิตวิถีใหม่แบบ New normal เพื่อความอยู่รอดและสอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่ อย่างอาชีพช่างอุตสาหกรรมเองก็ต้องมีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ในการให้บริการ เน้นการให้บริการแบบเชิงรุกคือสามารถเดินทางออกไปปริการลูกค้านอกสถานที่และการใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการหารายได้อีกทางหนึ่ง

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม สถาบันที่ทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่ตำบลนาราชควาย จังหวัดนครพนม มองว่าอาชีพช่างอุตสาหกรรมเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้แรงงานได้ตลอดชีวิต เพราะในแต่ละบ้านย่อมมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอายุการใช้งานที่ต้องได้รับการบำรุงรักษา ประจวบเหมาะกับในพื้นที่มีสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านเนินสะอาด ตำบลนาราชควาย จังหวัดนครพนม ที่ดูแลเยาวชนผู้เคยกระทำผิดโดยมีเป้าหมายเมื่อเยาวชนได้พ้นโทษและออกจากสถานพินิจฯ แล้ว เยาวชนสามารถกลับไปเรียนต่อในสถานศึกษาหรือมีอาชีพรองรับ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและไม่กลับสู่วงจรเดิมอีก จากการทำแบบทดสอบยังทำให้พบว่าเยาวชนในสถานพินิจกว่า 76% ต้องการได้รับการอบรม เพิ่มความรู้ทักษะอาชีพ โดยทักษะที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือทักษะด้านช่างอุตสาหกรรม จึงก่อตั้ง ‘โครงการการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แก่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ’

โครงการฯ นี้เป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่สถาบันฯ เคยทำในปี 2562 เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยปีนี้ทางโครงการให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเยาวชนในสถานพินิจ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสเรียนต่อในระบบปกติ ขาดโอกาสในการทำงานและขาดการยอมรับจากสังคม สถาบันและโครงการฯ จึงได้ออกแบบหลักสูตรทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 5 สาขาอาชีพ ได้แก่ สาขาการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบในบ้านพักอาศัย สาขาซ่อมรถจักรยานยนต์ สาขาถ่ายทำวิดีโอ สาขาช่องไฟฟ้าภายในอาคารและสาขาช่างเชื่อมแม็ก ที่ควบคุมการสอนโดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม สถาบันที่เปิดสอนด้านการช่างที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ สถานที่และบุคลากร

โดยหลักสูตรทั้งหมดนี้ช่วยให้ในช่วงที่เยาวชนอยู่ในความควบคุมดูได้รับการศึกษา ได้พัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อสร้างกระบวนการคิดที่ถูกต้อง มีความชำนาญในสาขาอาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างจริงจัง โดยโครงการฯ ยังมองอีกว่าการสร้างให้เยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่หากต้องเจอปัญหาอะไรในอนาคตก็จะมีกระบวนการคิดและแก้ไขได้โดยใช้วิธีที่ถูกต้อง การพัฒนาอาชีพจึงเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่เพียงช่วยให้มีรายได้แต่ยังช่วยให้มีระบบความคิดที่ดี

ตามเป้าหมายที่โครงการฯ วางไว้คือมีความต้องการให้กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดมีทักษะอาชีพช่างที่ได้รับการฝึกฝนอย่างชำนาญและพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นช่างที่ได้รับมาตรฐานฝีมือแรงงานที่พกความรู้ ความสามารถไปบริการลูกค้าถึงที่ตามแนวคิดวิถีชีวิตแบบ New normal มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง ครอบครัวไปจนถึงการมีชีวิตที่ดีขึ้นหลุดพ้นจากวงจรเดิม

 

การสร้างให้เยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง ดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ หากต้องเจอปัญหาอะไรในอนาคตก็จะมีกระบวนการคิดและแก้ไขได้โดยใช้วิธีที่ถูกต้อง การพัฒนาอาชีพจึงเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่เพียงช่วยให้มีรายได้แต่ยังช่วยให้มีระบบความคิดที่ดี

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แก่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

ชื่อหน่วยงาน

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม

จังหวัด

นครพนม

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์
โทร: 08-1964-5607

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 100 คน ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 5 สาขาอาชีพ  ได้แก่
    1) การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย จำนวน  20 คน
    2) การติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคาร จำนวน  20 คน
    3) การซ่อมรถจักรยานยนต์  จำนวน  20 คน
    4) การเชื่อมแม็ก จำนวน  20 คน
    5) การถ่ายทำวีดีโอ จำนวน  20 คน
  2. พัฒนาหลักสูตรที่ตรงกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ข้อจำกัดของระยะเวลาในการเรียนรู้ข้อจำกัดของพื้นฐานความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การจัดบรรยากาศในการเรียนรรู้ที่ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของเยาวชน เป็นต้น จำนวน 5 หลักสูตร แบ่งเป็น ระยะสั้น 30 ชม. จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
    1) การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย
    2) การซ่อมรถจักรยานยนต์
    3) การถ่ายทำวีดีโอ
    และจัดทำหลักสูตร 120 ชม. จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่
    1) การติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคาร
    2) การเชื่อมแม็ก
  3. พัฒนาต่อยอดกลุ่มเป้าหมายเดิม ไปสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จำนวน 20 คน
  4. คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายใหม่ เข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างเชื่อมแม็ก จำนวน 20 คน

 

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส