ศจีรัตน์ฟาร์ม นำทีมชุมชนบ้านหนองสาหร่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ด้วยการเพาะเห็ดสร้างรายได้

นครพนม เกษตรกรรม

เห็ด พืชอายุสั้นและเป็นที่ต้องการของตลาด เห็ดนั้นมีหลายชนิดโดยเห็ดแต่ละชนิดสามารถนำมาประกอบอาหารและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย โดยที่เห็ดเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปีทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้ไม่ขาดสายและผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็มีทานไม่ขาดช่วง เห็ดจึงเป็นพืชที่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการหาอาชีพเสริมหลังฤดูทำนาและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพหลักให้ใครหลายคนได้

บ้านหนองสาหร่าย ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ชาวชุมชนประกอบอาชีพหลักคือการทำนา และมีอาชีพเสริมช่วงหลังฤดูทำนาเป็นการเลี้ยงไก่ ทอเสื่อ ปลูกพืชผักสวนครัวขายแต่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ ซึ่งไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรออกไปสู่ชุมชนภายนอก ไม่มีการจ้างงานในชุมชน แรงงานที่เดินทางออกไปนอกพื้นที่ถูกเลิกจ้างทำให้ต้องเดินทางกลับมายังถิ่นเกิดและคนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับทำให้คนในชุมชนต้องหาของป่า เก็บเห็ดตามฤดูกาลที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อมาประกอบอาหารเลี้ยงดูครอบครัว

ศจีรัตน์ฟาร์ม จังหวัดนครพนม ฟาร์มที่มีประสบการณ์ด้านการเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดมากมายและมีความใกล้ชิดคุ้นเคยกับชุมชนเป็นอย่างมาก ได้เห็นถึงปัญหานี้จึงตั้งเป้าหมายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและพัฒนาทักษะสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนบ้านหนองสาหร่าย โดยดึงเอาสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้วอย่าง ‘เห็ด’ มาใช้ ซึ่งทางฟาร์มที่มีองค์ความรู้การแปรรูปอยู่แล้ว จะเป็นผู้นำที่พากลุ่มชาวบ้านเพาะเห็ด เพื่อนำมาเป็นอาหารในครัวเรือนและสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ได้ ทั้งนี้หากเห็ดที่ชาวบ้านเพาะมีจำนวนมากพอยังสามารถนำมาแปรรูปเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย

ศจีรัตน์ฟาร์มได้ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม จัดตั้ง ‘โครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ดแบบครบวงจรแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19’ ที่บ้านหนองสาหร่ายเพราะเล็งเห็นต้นทุนที่ชุมชนมี ได้แก่ การที่ชาวชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักทำให้มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง ชุมชนเคยมีการรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดแต่ไม่ได้สานต่อกิจกรรมทำให้บางคนยังมีพื้นฐานการเพาะเห็ดอยู่บ้างและชุมชนไม่มีการจ้างแรงงานจากนอกพื้นที่เพราะใช้แรงงานในชุมชนตนเองกันหมดทำให้รายได้เกิดการหมุนเวียนกันเองภายใน จากต้นทุนนี้ทำให้โครงการฯ สามารถผลักดันหลักสูตรการเพาะเห็ดของชุมชนไปได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่อบรมทักษะการเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง ทักษะการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดตามมาตรฐาน การทำเชื้อเห็ด การแปรรูปเห็ดไปจนถึงการขายสินค้าบนโลกออนไลน์

หลังจากที่โครงการได้เริ่มดำเนินไปแล้ว หน่วยพัฒนาฯ ก็ได้เห็นภาพสะท้อนของชุมชนบ้านหนองสาหร่ายที่โดดเด่นในเรื่องของความร่วมมือร่วมใจ อยากพัฒนาอาชีพให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความตั้งใจใฝ่เรียนรู้ทุกขั้นตอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้คนในชุมชนเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

หลังจากที่โครงการได้เริ่มดำเนินไปแล้ว หน่วยพัฒนาฯ ก็ได้เห็นภาพสะท้อนของชุมชนบ้านหนองสาหร่ายที่โดดเด่นในเรื่องของความร่วมมือร่วมใจ อยากพัฒนาอาชีพให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ดแบบครบวงจรแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

ชื่อหน่วยงาน

ศจีรัตน์ฟาร์ม

จังหวัด

นครพนม

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางศจีรัตน์ ระวิ
โทร: 09 0328 9424

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ได้หลักสูตรการเพาะเห็ดฉบับชุมชนบ้านหนองสาหร่าย” เป็นแนวทางในการดำเนินการและขยายผลไปสู่ชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ
  2. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 50 คน ได้รับการพัฒนาทักษะการเพาะเห็ดแบบครบวงจรและรวมตัวจัดตั้ง “กลุ่มเพาะเห็ดบ้านหนองสาหร่าย” ดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม เหมาะสม เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและชุมชน
  3. กลุ่มเพาะเห็ดสามารถใช้การบริการจัดการกลุ่มที่ดี เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน
  4. กลุ่มเป้าหมาย สามารถนำทักษะอาชีพที่ได้เรียนรู้ มาสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้และลดผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้
  5. การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและจัดกิจกรรมที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่เยาวชน บุตรหลานในชุมชนได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส