เครื่องดื่มยามเช้ายอดฮิตของคนทั่วโลกคือกาแฟ บางคนดื่มกาแฟเพราะขาดไม่ได้ บางดื่มให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าจากฤทธิ์คาเฟอีน ซึ่งเป็น ‘ฟังก์ชั่น’ หลักของกาแฟที่เครื่องดื่มชนิดอื่นไม่มี แต่นอกเหนือไปจากคนที่ดื่มเพื่อฟังก์ชั่นแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนที่ดื่มกาแฟเพื่อ ‘ความอร่อย’ ของรสชาติ ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้นี่แหละที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ร้านกาแฟทั่วๆ ไป ไม่ตอบโจทย์ความอร่อยที่คนกลุ่มนี้ตามหา

ร้านกาแฟแบบสเปเชียลตี้จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบความต้องการตรงนี้ สิ่งที่ร้านกาแฟแบบสเปเชียลตี้แตกต่างจากร้านทั่วไปคือร้านกาแฟประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับชนิดของกาแฟ แหล่งที่มาของกาแฟ ความเข้มอ่อนของการคั่ว ไปจนถึงวิธีการชง เรียกได้ว่าใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนเลย เพื่อให้รสชาติของกาแฟออกมาดีที่สุด

แหล่งรวมร้านกาแฟสเปเชียลตี้ที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของไทยคือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีร้านกาแฟแนวนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับจำนวนของคนดื่ม ด้วยเหตุนี้ทำให้ความต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงมีมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเห็นช่องทางการตลาดเช่นนี้ ‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู จังหวัดเชียงใหม่’ จึงได้เร่งผลักดันโครงการ พัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย โดยการส่งเสริมพัฒนากาแฟครบวงจรบ้านเลาวู ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานในพื้นที่รู้จักวิธีการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อมาตอบโจทย์ตลาดกาแฟสเปเชียลตี้เหล่านี้

หมู่บ้านเลาวูเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูที่มีอายุกว่า 80 ปี โดยหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านการผลิตกาแฟคุณภาพสูงมาอยู่แล้ว ทว่าเมื่อมีความต้องการของตลาดกาแฟสเปเชียลตี้มากขึ้น เกษตรกรที่สามารถผลิตกาแฟคุณภาพสูงก็ไม่เพียงพอ อีกต่อไป โครงการของวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติจึงได้พยายามเจาะกลุ่มกลุ่มเกษตรกรที่ด้อยโอกาส ซึ่งไม่มีองค์ความรู้การผลิตกาแฟคุณภาพสูง จำนวน 150 คน ประกอบไปด้วย คนว่างงาน คนที่มีรายได้น้อย คนที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา เพื่อเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนที่จะสมัครเข้ามาอบรมจะต้องมีความสนใจที่จะเรียนรู้ทักษะการปลูกกาแฟอย่างแท้จริงด้วย

วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซูจะร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชน กลุ่มร้านกาแฟในอำเภอเวียงแหง และอีกหลากหลายสถาบัน เพื่อร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้และออกแบบหลักสูตรขึ้นมาใหม่สำหรับโครงการนี้ ในชื่อว่า ‘การพัฒนาคุณภาพกาแฟครบวงจรบ้านเลาวู’ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมตลอดหลักสูตร เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟ การปลูก การดูแลรักษา การทำปุ๋ย ซึ่งในส่วนนี้จะได้วิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาร่วมสาธิตให้สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง

เมื่อปลูกเป็นแล้วก็ต้องนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกฝนทักษะการแปรรูป การโพรเซสกาแฟในวิธีต่างๆ ไปจนถึงการคั่วกาแฟให้ได้ความเข้ม-อ่อนตามต้องการ จากนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ด้านการตลาด การขาย การหาเครือข่ายเพื่อทำให้กลุ่มมีความแข็งแรง

หากดูจากจำนวนคนและจำนวนวิชาในหลักสูตรแล้ว โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เวลาในการฝึกอบรมถึงครึ่งปี แต่หากถามว่าต้นทุนเหล่านี้มีความคุ้มค่าแค่ไหน ก็สามารถตอบได้เลยว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากที่โครงการได้ยิบยื่นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องการปลูกกาแฟเบื้องต้นแก่ผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังสอนวิธีที่จะเพิ่มมูลค่าของพืชผลที่เคยมีราคาถูกอย่างเมล็ดกาแฟสด มาเป็นกาแฟคั่วที่ราคาสูงกว่ามาก ซึ่งนับว่าเป็นการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมๆ ไปกับเพิ่มความหลากหลายของกาแฟให้กับคนที่รักใน ‘รสชาติ’ ของกาแฟด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยโดยการส่งเสริมพัฒนากาเเฟครบวงจรบ้านเลาวู

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล
โทร: 063-9844777

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้และมีอาชีพเพิ่มขึ้นจากการแปรรูปกาแฟ
  2. กลุ่มเป้าเหมายแบ่งกาแฟเชอร์รี่ส่วนหนึ่งมาแปรรูปเป็นกาแฟกะลา และกาแฟสาร
  3. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแปรรูปกาแฟตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง และบริษัทที่ทำกาแฟ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส