การพัฒนาอาชีพบนฐานทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชน ของหมู่บ้านบางปู ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ปัตตานี อาหาร

ตั้งแต่อดีตชาวบ้านในหมู่บ้านบางปู ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นิยมส่งลูกหลานให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ในหลากหลายแขนงวิชาและหลากหลายสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีลูกหลานที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจำนวนร่วมร้อยคน ซึ่งประกอบอาชีพการงานที่หลากหลาย ทำให้ชุมชนหมู่บ้านบางปูได้รับการกล่าวขานจากชุมชนรอบข้าง ว่าเป็นชุมชนที่มีผู้รู้เยอะ 

อีกทั้งเมื่อมัสยิดอัตตะอาวุน ซึ่งเป็นมัสยิดประจำหมู่บ้าน ได้ขยายขอบข่ายบทบาทหน้าที่เพิ่มเติมจากการเป็นศาสนสถานเพื่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาเพียงอย่างเดียว มาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนอย่างครบวงจร จึงทำให้ชุมชนสามารถดึงศักยภาพของปัญญาชนและผู้มีจิตอาสา มาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนตามความถนัดที่แต่ละคนมี สู่การพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชน จนพัฒนาเป็นฝ่ายงานย่อยๆ ภายใต้การบริหารงานโดยมัสยิดอัตตะอาวุน เช่น ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชน ศูนย์พัฒนากิจการสตรี, และกองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น

แม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น การเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของหมู่บ้านบางปูก็ยังประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยาเสพติด ส่งผลให้เกิดกลุ่มเยาวชนเปราะบางตามรายทาง กล่าวคือ บางคนไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา หรือเยาวชนที่ว่างงานและประสบปัญหาครอบครัวหย่าร้าง ครอบครัวยากจน หรือครอบครัวที่ผู้ปกครองไปประกอบอาชีพรับจ้างในประเทศเพื่อนบ้าน 

“โครงการพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชน หมู่ที่ 3 ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี” จึงถูกจัดตั้งขึ้น ภายใต้การทำงานของมัสยิดอัตตะอาวุน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลบางปู

โดยคณะทำงานมุ่งเป้าไปที่อาหารและขนมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติด้านการประกอบอาหารและขนมพื้นบ้าน ได้แก่ ขนมมาดูฆาตง ปลาแห้งปลอดสารพิษ ยำสาหร่ายผมนาง ซามาลอแก และขนมอาเกาะ ซึ่งเป็นอาหารและขนมพื้นบ้านที่นิยมรับประทานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการอำเภอยะหริ่ง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และศูนย์พัฒนากิจการสตรี มัสยิดอัตตะอาวุน

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม โดยจะประสานความร่วมมือกับสาขาวิชาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และใช้ร้านค้าภายในชุมชน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าตามสถานที่จัดงานต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นช่องทางกระจายสินค้า เช่น งานกาชาด งานวัฒนธรรม และงานมัสยิด เป็นต้น 

โดยหลังจากที่โครงการดำเนินไปใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด คณะทำงานได้ตั้งเป้าไว้แต่แรกเริ่มว่า จะต้องจัดกิจกรรมถอดบทเรียนการเป็นผู้ประกอบการให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่การเริ่มฝึกอบรมการประกอบอาหารและขนมพื้นบ้าน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การได้เอาผลิตภัณฑ์ชุมชนออกไปจัดจำหน่าย ไปจนถึงการวิเคราะห์ผลสะท้อนที่ได้จากผู้บริโภคและประชากรในชุมชน ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอัตตะอาวุน บางปู ขึ้นได้ในอนาคต 

 

มัสยิดอัตตะอาวุน ซึ่งเป็นมัสยิดประจำหมู่บ้าน ได้ขยายขอบข่ายบทบาทหน้าที่เพิ่มเติมจากการเป็นศาสนสถานเพื่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาเพียงอย่างเดียว มาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนอย่างครบวงจร จึงทำให้ชุมชนสามารถดึงศักยภาพของปัญญาชนและผู้มีจิตอาสา มาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนตามความถนัดที่แต่ละคนมี สู่การพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชน หมู่ที่ 3 ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ชื่อหน่วยงาน

มัสยิดอัตตะอาวุน (บางปู) จังหวัดปัตตานี

จังหวัด

ปัตตานี

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ดร.มุฮัมมัดดาวูด บิลร่าหมาน
โทร: 093-5782352

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายได้รับการเสริมสร้างทักษะในการประกอบอาชีพด้านอาหารและขนมพื้นบ้านอย่างครบวงจร
  2. กลุ่มเป้าหมายได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารและขนมพื้นบ้าน
  3. กลุ่มเป้าหมายมีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรในชุมชน
  4. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและขนมพื้นบ้าน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส