ปรับโฉมการเลี้ยงแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะแบบดั้งเดิม ให้กลุ่มคนรับจ้างกรีดยางพาราในจังหวัดพัทลุง ได้พัฒนาทักษะด้านอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

พัทลุง อื่น ๆ

แพะเนื้อ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนไทยนิยมเลี้ยงกันเพิ่มมากขึ้น หลังจากตลาดแพะเนื้อขยายกว้างมากขึ้น สืบเนื่องจากคนจำนวนมากเริ่มหันมาบริโภคเนื้อแพะกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี วิธีการเลี้ยงแพะเนื้อนั้นมีหลากหลาย วิธีหนึ่งที่ตำบลคลองใหญ่และตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง นิยมคือ วิธีเลี้ยงหวะ 

โดยวิธีการเลี้ยงแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะคือ การเลี้ยงแพะที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกัน คนที่มีเงินทุนก็จะซื้อลูกแพะมาให้คนที่ไม่มีเงินทุนเลี้ยง เมื่อแพะโตเต็มที่ ก็ค่อยนำไปขาย จากนั้นผู้เลี้ยงจึงนำเงินมาแบ่งปันให้กับผู้ซื้อแพะ โดยวิธีการเลี้ยงแพะเนื้อดังกล่าวเกิดขึ้นที่ ตำบลคลองใหญ่และตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง หลังจากที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เดิมที่ประกอบอาชีพกรีดยางพารา แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งราคายางตกต่ำและการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างกรีดยางพาราอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการยางพาราแห่งประเทศไทย (กยท.)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จึงผลักดันให้เกิด “โครงการธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” หรือ “ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” ขึ้น เพื่อพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเอกสารสิทธิ์ทำกิน หรือไม่ต้องพึ่งพาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ ด้วยการให้คนกลุ่มนี้สร้างอาชีพแบบรวมกลุ่มตามบริบทของตนเอง โดยเน้นการบริหารจัดการด้วยตนเองแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งในกลุ่ม แม้จะไม่ได้รับสิทธิต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ ซึ่งคณะทำงานตั้งกลุ่มเป้าหมายแรกเริ่มไว้ที่จำนวน 70 คน 

ทว่า การเลี้ยงแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะมีข้อเสียอยู่ตรงที่หากคนในกลุ่มไม่มีเงินซื้อแพะ กระบวนการทุกอย่างก็จะหยุดชะงัก คณะทำงานจึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา โดยใช้วิถีชีวิตซึ่งเป็นทุนดั้งเดิมของกลุ่มเป้าหมายเป็นฐานราก จนตกผลึกออกมาเป็นระบบการเลี้ยงแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะที่มีความคล้ายคลึงกับระบบธนาคาร ทำให้ผู้ที่มีทุนน้อยก็สามารถร่วมลงทุนได้ และสะสมเป็นเงินก้อนเพื่อไปซื้อแพะมาเลี้ยงอีกทอดหนึ่ง 

นอกจากการปรับระบบการเลี้ยงแพะขนานใหม่แล้ว คณะทำงานยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบฟาร์มแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะให้อยู่ในมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากระบบการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ไม่มีการทำโรงเรือนแบบยกพื้น และเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย โดยจัดตั้งโรงเลี้ยงแพะเนื้ออยู่ในบริเวณเดียวกับที่อยู่อาศัยของผู้เลี้ยง ซึ่งปราศจากระบบสุขาภิบาล

ซึ่งการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงแพะเนื้อที่คณะทำงานมุ่งหวังจำกัดขอบเขตไปที่การยกระดับมาตรฐานใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อที่เน้นการพัฒนาคนด้วยการเสริมความรู้ด้านการเลี้ยงแพะเนื้อให้ลึกซึ้ง (2) การยกระดับสมาชิกกลุ่ม ที่เน้นการกำหนดบทบาทของฝ่ายที่สนับสนุนผู้เลี้ยงแพะ และ(3) การยกระดับระบบการเลี้ยงแพะเนื้อ ที่เน้นบริบทด้านการเลี้ยง เช่น การจัดการพื้นที่เลี้ยงและการจัดการโรงเรือน เป็นต้น 

โดยคณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการฯ นี้จะก่อให้เกิดอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเป้าหมาย ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ของภาครัฐ อีกทั้งการให้ความรู้ การสร้างระบบบริหาร การจัดการแบบกลุ่ม และการสร้างระบบการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน จะช่วยผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายกลายเป็นแหล่งผลิตแพะเนื้อที่สำคัญของจังหวัดพัทลุงและของภาคใต้เพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

 

“โครงการธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” หรือ “ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ”พัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีอาชีพของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเอกสารสิทธิ์ทำกิน หรือไม่ต้องพึ่งพาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ ด้วยการให้คนกลุ่มนี้สร้างอาชีพแบบรวมกลุ่มตามบริบทของตนเอง โดยเน้นการบริหารจัดการด้วยตนเองแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จังหวัดพัทลุง

จังหวัด

พัทลุง

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผศ.ดร.อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว
โทร: 081-965-5583

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรในตำบลคลองใหญ่และตำบลแม่ขรี ได้ธนาคารแพะเลี้ยงเนื้อแบบเลี้ยงหวะในรูปแบบการบริหารจัดการด้วยระบบกลุ่มเกษตรกร
  2. เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรธนาคารแพะเลี้ยงแบบเลี้ยงหวะ มีระบบการเลี้ยงตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มแพะเนื้อ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส