ปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรไปกับกลุ่มวิสาหกิจบ้านมหาสอน จังหวัดลพบุรี

ลพบุรี เกษตรกรรม

ชุมชนบ้านมหาสอน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ขี้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตร เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยทราวดี ผู้คนในชุมชนยังคงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ เช่น การประกอบอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะการปลูกข้าว หรือการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เป็นต้น ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่นิยมสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นกันมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนรวมตัวกันจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อบริการนักท่องเที่ยว เช่น ที่พักแบบโฮมสเตย์ บ้านกิจกรรม และผลิตภัณฑ์ของคนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อหารายได้เสริมอื่น ๆ นอกจากการเกษตร จนขยายจำนวนสมาชิกจาก 22 ครัวเรือนเป็น 52 ครัวเรือนได้ในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นตามไปด้วย 

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มวิสาหกิจบ้านมหาสอนก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ชาวบ้านขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของชาวบ้าน ทำให้เกิดการกู้เงินนอกระบบ ประกอบกับวัยแรงงานที่ตกงานกะทันหันได้กลับมายังบ้านเกิดในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ จึงทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น 

กลุ่มวิสาหกิจบ้านมหาสอนจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวได้เร็วที่สุด เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยว มีองค์ความรู้ ทักษะ อาชีพ นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในชุมชน ในการผลิตและพัฒนาสินค้า รวมถึงบริการใหม่ ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสนใจเข้าร่วมทั้งหมด 70 คน ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ

 โดยทางกลุ่มเป้าหมายและหน่วยพัฒนาอาชีพจึงเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตามมาตรฐานการป้องกันโควิด-19 ของหน่วยงานราชการหรือมาตรฐาน SHA ในการป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้ โครงการฯ จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการให้บริการการท่องเที่ยว โดยได้รับคำแนะนำจากสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ในการปฏิบัติตามมาตรการการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) และพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วยการวิเคราะห์จุดแข็ง เสริมจุดอ่อน ผ่าน SWOT Analysis ซึ่งช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจถึงเป้าหมายและความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดอบรมอาชีพด้านสปาพื้นบ้านอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนยังได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายฐานกลุ่มลูกค้าด้วยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์สื่อสารการท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ สมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจบ้านมหาสอนยังได้มีความสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาหม่องสมุนไพร ลูกประคบ สมุนไพรไล่ยุง โลชั่นสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับชาวบ้าน ในช่วงที่ไม่สามารถเปิดให้บริการท่องเที่ยวได้ ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

การจัดตั้งโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านมหาสอนก้าวข้ามผ่านปัญหาครั้งสำคัญ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของตน และการเสริมสร้างความรู้ในการประกอบอาชีพด้านอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีต่อครัวเรือนต่าง ๆ ในชุมชนที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจนี้ในอนาคต 

 

การจัดตั้งโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านมหาสอนก้าวข้ามผ่านปัญหาครั้งสำคัญ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของตน และการเสริมสร้างความรู้ในการประกอบอาชีพด้านอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีต่อครัวเรือนอื่น ๆ ในชุมชนที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจนี้ในอนาคต

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน อ.บ้านหมี่ จ. ลพบุรี

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน

จังหวัด

ลพบุรี

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวอิงณภัสร์ วงษ์สิทธิชัย
โทร: 084-77551435

เป้าประสงค์โครงการ

  1. บุคลากรด้านการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีมาตรฐาน
  2. สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งสินค้า และบริการ ที่ส่งเสริมกับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชน
  3. ชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพพร้อมมาตรฐานที่หน่วยงานรับรอง ที่ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal)
  4. เกิดช่องทางการตลาดและสื่อในการส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส