‘ไท่ซิวเอวี๋ยน’ สถานธรรมที่ขับเคลื่อนชุมชมบ่อพลอยด้วยการเปิดโครงการฝึกทักษะเกษตรอินทรีย์

กาญจนบุรี เกษตรกรรม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสของการทำเกษตรอินทรีย์แพร่หลาย และได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จึงเลือกที่จะบริโภคผักผลไม้ปลอดสารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม 

‘สถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จึงนำเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์’ มาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้ชาวบ้าน โดยมีเป้าหมายคือ ให้คนในชุมชนมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และได้องค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์มาต่อยอดจากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากที่แฝงด้วยหลักธรรมจากพุทธศาสนา

พาฝัน ไพรเกษตร หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวผู้ก่อตั้งสถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน เล่าว่า หลังจากที่สถานธรรมแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน จากทั้งอำเภอบ่อพลอยและอำเภอหนองปรือแล้ว เธอเริ่มสังเกตได้ว่า ญาติธรรม (คนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม) ส่วนใหญ่จะเข้ามาด้วยความทุกข์ใจ จากปัญหาการขาดรายได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับญาติธรรมหลายคน พวกเขาล้วนหวังพึ่งธรรมะเพื่อเยียวยาจิตใจ แต่กระนั้น ปัญหาการขาดรายได้ก็ยังคงอยู่ต่อไป 

จากการมองเห็นปัญหาที่เหล่าญาติธรรมต่างๆ ต้องเผชิญ พาฝันจึงใช้ความรู้ความสามารถที่เคยทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีพันธกิจขับเคลื่อนประเด็นภาระหนี้ของชาวนา ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับพื้นที่แห่งนี้มาประยุกต์ จนเกิดเป็น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยพอใจในวิถีพอเพียง 

ด้วยเป้าหมายที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองรีและตำบลหนองกร่าง อำเภอบ่อพลอย, และตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ โดยการเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

หลังจากที่ประชุมและทำความเข้าใจหลักสูตรการฝึกอบรม และเลือกวิทยากรที่จะเข้ามาหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายเสร็จแล้ว พาฝัน บอกว่า สิ่งหนึ่งที่คณะทำงานทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือการ ‘ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งในที่นี้หมายถึง การเฟ้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในชุมชน เพื่อให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างวิทยากรกับกลุ่มเป้าหมาย และยังสะท้อนถึงการทำงานแบบภาคีเครือข่ายร่วมกับชุมชน เช่น ให้อาจารย์สุธรรม ใจอ่อน และคณะจากศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงปลักไม้ลาย มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ยาไล่แมลงแบบอินทรีย์ รวมทั้งอบรมการเพาะต้นอ่อนแต่ละชนิด เช่น ต้นกล้าอ่อนทานตะวัน ผักบุ้ง และถั่วงอก เนื่องจากเป็นพืชระยะสั้น มีต้นทุนต่ำ โดยโครงการจะมีเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่ายให้กลุ่มเป้าหมายนำไปปลูก ซึ่งสามารถนำไปปลูกสำหรับบริโภคเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน หรือจำหน่ายก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ระหว่างที่กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เรียบร้อยแล้ว คณะทำงานจะแฝงหลักธรรมคำสอน เรื่องการไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการค้าขายโดยสุจริต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ใช้สารเคมีเพื่อทำร้ายสุขภาพผู้อื่น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายปฏิบัติตามหลักธรรมจากพุทธศาสนาอีกด้วย

เมื่อได้รับการหนุนเสริมองค์ความรู้ ตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ และ ‘กลางน้ำ’ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ความรู้เหล่านี้ ‘กินได้’ อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็คือขั้นตอนที่ ‘ปลายน้ำ’ นั่นคือการสร้างช่องทางการขายหรือการตลาด ที่จะรองรับสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน เช่น กล้วยอบกรอบ ชาสมุนไพร ครีมนวดผมจากมะกรูด เป็นต้น

ด้วยกระแสของ e-commerce หรือ การค้าออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งยังส่งผลให้ผู้ขายสามารถขยายฐานลูกค้าของตนเองไปได้ไกลขึ้น ซึ่งนั่นอาจหมายถึง การซื้อขายข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด หรือแม้กระทั่ง ข้ามประเทศ พาฝัน จึงเลือกนำหลักสูตรการตลาดออนไลน์มาเติมความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ จากความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำเพจขายสินค้าออนไลน์ และยังจัดตั้งเพจเฟซบุ๊ก ไว้รองรับสินค้าของกลุ่มเป้าหมายทุกคน 

ฐิญกานต์ รื่นบุตร หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า ความสำเร็จของโครงการทำให้เธอมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรายได้เพียงวันละ 100-300 บาท แต่มันก็เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งที่เปิดดูยอดสั่งซื้อ ทำให้เธอมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ เธอยังสามารถนำผลผลิตที่ได้มาบริโภคเองในครัวเรือน ซึ่งช่วยลดรายจ่ายได้จำนวนหนึ่ง ทำให้เธอสามารถสร้างรายได้จากถิ่นฐาน ไม่ต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ

“เมื่อก่อน เราเคยจากบ้านจากครอบครัวไปนานถึง 10 ปี เพื่อไปหางานทำ แต่พอแต่งงานเราก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ แต่พอโครงการนี้เข้ามา ก็เป็นเหมือนความหวังที่เกิดขึ้นในใจ เขาสอนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และสอนให้ทำเกษตรอินทรีย์แทน ทั้งยังสอนเรื่องการแปรรูปอาหารจากผลผลิตที่เราปลูก จึงสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มาก แต่เราก็สามารถทำที่บ้านได้ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องห่างจากครอบครัวอีกต่อไป ความสุขเพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้ว”

การคิดดี พูดดี คือพื้นฐานของการทำความดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมะที่คณะทำงานไม่ลืมที่จะสอดแทรกให้กลุ่มเป้าหมายในทุกๆ ฐานการเรียนรู้ และทุกกิจกรรม จนสามารถดำเนินมาถึงเส้นชัย และทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างรายได้จากองค์ความรู้ที่ได้รับ ล่าสุด สถานธรรมแห่งนี้ยังต่อยอดโครงการขึ้นอีกขั้น ด้วยการจัดตั้งเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง’ ได้สำเร็จ

ซึ่ง พาฝัน เล่าว่า การได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน คือ ‘หัวใจสำคัญ’ ที่ทำให้เกิดการรวมตัว เกิดการขับเคลื่อนต่างๆ เหล่านี้ได้ และมุ่งหวังให้ผลสำเร็จนี้เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นเรียนรู้เป็นแนวทางต่อไป เพื่อที่คนในชุมชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับหลักธรรมในหัวใจ

“เมื่อก่อน เราเคยจากบ้านจากครอบครัวไปนานถึง 10 ปี เพื่อไปหางานทำ แต่พอแต่งงานเราก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ แต่พอโครงการนี้เข้ามา ก็เป็นเหมือนความหวังที่เกิดขึ้นในใจ เขาสอนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และสอนให้ทำเกษตรอินทรีย์แทน ทั้งยังสอนเรื่องการแปรรูปอาหารจากผลผลิตที่เราปลูก จึงสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มาก แต่เราก็สามารถทำที่บ้านได้ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องห่างจากครอบครัวอีกต่อไป ความสุขเพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้ว” ฐิญกานต์ รื่นบุตร หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย พอใจในวิถีพอเพียง

ชื่อหน่วยงาน

สถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน

จังหวัด

กาญจนบุรี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวพาฝัน ไพรเกษตร
โทร: 094-9962930

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ หากกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านมีโอกาสได้รับการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม ทุกคนมุ่งมั่นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ในครอบครัว มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว  ก่อเกิดทัศนคติของการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องชัดเจน สร้างสรรค์คุณค่าชีวิตตน จะรู้จักรักสรรพชีวิต สรรพสิ่ง รู้จักถนอมรักษาบุญกุศล รู้จักสำนึกคุณ ถนอมรักษาทุกอย่างที่มี ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข โดยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ด้วยการมีวิถีชีวิตที่พอเพียง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส