มทร.ศรีวิชัยยื่นเปิดวิชาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อดึงเยาวชนในชุมชนชายฝั่งให้กลับมาเข้าระบบแรงงานอาชีพ
หากคุณเป็นคนรักทะเล รักกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการังแล้วล่ะก็ เราอยากให้คุณมารู้จักกับคำว่า ‘ชุมชนชายฝั่ง’ ซึ่งหมายถึงชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเล เพราะคนกลุ่มนี้นี่แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญ และเป็นดั่งผู้พิทักษ์ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เหล่านั้นเลยก็ว่าได้ เพราะชุมชนเหล่านี้คือคนที่ใช้ชีวิต มีวิถีชีวิตและความเชื่อ อยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง พวกเขาคือตัวแปรสำคัญในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย
วันนี้เราอยากแนะนำชุมชนชาวฝั่งแห่งหนึ่งที่นับว่าเป็นชุมชนชายฝั่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยและชุมชนเข้าด้วยกันอย่างผสมผสานกลมเกลียว เพราะมักจะมีโครงการดีๆ จากมหาวิทยาลัยมาทำร่วมกับชุมชนอยู่เสมอ นั่นคือชุมชนชายฝังของจังหวัดตรัง จังหวัดตรังประกอบไปด้วยชุมชนชายฝั่งสำคัญใน 5 อำเภอ คือ อำเภอสิเกา กันตัง ปะเหลียน ย่านตาขาว และหาดสำราญ ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยหมู่บ้านเล็กๆ อีกกว่า 50 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรกว่า 3,000 ครอบครัว
สิ่งที่ชุมชนทั้ง 5 อำเภอนี้ต้องประสบอยู่เสมอคือปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงเรื่องที่ไกลออกไปจากชายฝั่งอย่างเรื่องของ ‘โอกาส’ ทางการศึกษาอีกด้วย เพราะจากสถิติที่ผ่านมาเยาวชนที่อาศัยในชุมชนกลุ่มใหญ่เลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่จบป.6 เท่านั้นเอง
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มีบทบาทกับพื้นที่ชายฝั่งและชุมชนชายฝั่งของจังหวัดตรังมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ปี 2540 ทำให้พวกเขาได้เห็นทั้งมุมของโอกาสและปัญหาในชุมชน ซึ่งเป็นเวลาผ่านมากว่า 20 ปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยและชุมชนได้ทำงานร่วมกันในด้านการดูแลทรัพยากรทางทะเลและ รวมถึงการพัฒนาชุมชนประมงชายฝั่ง เพื่อยกระดับ ความเข้มแข็งชองชุมชนชายฝั่ง เพื่อรักษาฐานทรัพยากรสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจนทำให้มทร.ศรีวิชัยได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และตัวจังหวัดตรังเป็นอย่างดี
ในอดีตมทร.ศรีวิชัย ได้ริเริ่มโครงการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย เช่น โครงการธนาคารปูม้า กลุ่มชุมชนประมพื้นบ้านบ้านน้ำราบ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล ซึ่งโครงการอย่างหลังได้เป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ชุมชนในตำบลบ่อหินกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญ ในชื่อ ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ เพราะสามารถฟื้นทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและชายฝั่งกลับมาได้
นอกเหนือไปจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มทร.ศรีวิชัย ยังให้ความสำคัญกับ ‘ฐาน’ ของชุมชนอย่างคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะก้าวมามีบทบาทในอนาคต โดยได้นำโครงการ ‘การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง’
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าปัญหาของชุมชนชายฝั่งแห่งนี้คือการเข้าถึงโอกาสในการศึกษา โครงการจากมทร.ศรีวิชัยนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้น โดยเยาวชนที่เข้าร่วม รุ่นแรกในโครงการจะได้ฝึกฝนทักษะ ‘การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น’ ‘การเพาะเลี้ยงหอยนางรม ’ และ ‘วิชาชีพนักแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง โดยโครงการจะทำการฝึกฝนอบรมกลุ่มสมาชิกที่เข้าร่วมตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อวางรากฐานทักษะเบื้องต้นไปจนถึงทักษะการจัดจำหน่ายในช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
โครงการนี้จึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพาเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้ามาฝึกทักษะอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งองค์ความรู้ อาชีพ และจิตสำนึกเชิงอนุรักษ์เพื่อคอยดูแลพื้นที่แนวชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์เช่นดั่งเดิม
แชร์:
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐานด้านนักเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง
- เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
- เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถสร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และจำหน่ายสร้างตลาดได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10