‘เปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นรายได้’ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสผุดโครงการพัฒนาฝีมือตัดเย็บเสื้อให้กลุ่มสตรีฯ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน

นราธิวาส อุตสาหกรรม

การพัฒนาชุมชนจากฐานราก คือการใช้ ‘ต้นทุน’ ที่มีอยู่แล้วในชุมชนมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อประโยชน์ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเอง ต้นทุนที่พูดถึงนี้ไม่ได้หมายความถึงแค่ด้านของทรัพยากรธรรมชาติ หรืออัตลักษณ์ของชุมชนเท่านั้น แต่รวมไปถึง ‘แรงงาน’ ที่อยู่ในชุมชนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ยังใช้ศักยภาพของตัวเองได้ไม่เต็มที่ อย่างเช่น กลุ่มผู้ด้อยโอกาส แรงงานนอกระบบ หรือผู้ว่างงาน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นต้นทุนทางแรงงานที่สามารถพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับปัจเจกและสังคมได้

หนึ่งในองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาฝีมือให้แก่แรงงานด้อยโอกาสในชุมชนคือ ‘วิทยาลัยชุมชน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ปัญหาและต้นทุนของชุมชนอย่างลึกซึ้ง วิทยาลุยชุมชนนราธิวาส คือหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมาเป็นเวลานาน พวกเขาได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ในตำบลรือเสาะ มีช่องทางในการพัฒนาชุมชนได้อีกมาก เนื่องจากในพื้นที่นี้มีต้นทุนทางอาชีพอย่าง ‘โรงงานแฮนอินแฮน’ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่มีความต้องการจ้างแรงงานฝีมือสูง

จากต้นทุนทางอาชีพนี้ทำให้วิทยาลัยชุมชน ซึ่งมีฐานสมาชิกเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาสอยู่แล้ว จับมือกับทางโรงงานแฮนอินแฮน ในตำบลรือเสาะเพื่อร่วมกันจัดทำ ‘โครงการแฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน’ เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการผลิตเสื้อผ้าให้กับคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การร่วมงานกันของสององค์กรนี้ ทำให้โครงการมีความพร้อมในหลายด้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมด้านหลักสูตร ความพร้อมทางวิชาการ และความพร้อมด้านเครื่องมือ

กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ คือกลุ่มสตรีในอำเภอรือเสาะ ที่เป็นแรงงานนอกระบบ คนว่างงาน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่มีทักษะเบื้องต้นในการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองอยู่แล้ว และมีความต้องการที่จะต่อยอดทักษะเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวผ่านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง โดยโครงการจะมีส่วนในการอบรมและฝึกฝนเพื่อพัฒนาทักษะของสมาชิกจนสามารถผลิตเสื้อผ้าตามมาตรฐานในการจัดจำหน่ายได้

วิทยาลัยชุมชนจึงได้ออกแบบแผนการพัฒนาทักษะ โดยกำหนดให้มีการอบรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือวิชาการตัวเย็บเสื้อผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมเบื้องต้น การปรับแต่งจักร การใช้อุปกรณ์ การเย็บชิ้นเสื้อผ้า และการประกอบชิ้นงาน เรียกได้ว่าเป็นการเรียนเพื่อเสริมสร้าง ‘มาตรฐาน’ ของงานตัดเย็บจากการทำเป็นงานอดิเรกให้มีฝีมือทัดเทียมกับมืออาชีพ

เป้าหมายของโครงการแฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน นี้ไม่ใช่แค่การส่งเสริมทักษะเท่านั้น แต่ปลายทางของโครงการสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ 1.พัฒนาฝีมือจนสามารถผันตัวเข้าสู่อาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานแฮนอินแฮนได้ และ 2.จับกลุ่มกับเพื่อนสมาชิกเปิดรับออร์เดอร์เสื้อผ้าจากโรงงานไปตัดเย็บเองที่บ้าน ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมการอบรมสามารถตัดสินใจได้ตามความต้องการของตัวเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

แฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส

จังหวัด

นราธิวาส

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสาคร ปานจีน
โทร: 073-709815

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ มีให้การส่งเสริม สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ทำให้มีงาน เกิดการผลิตต่อเนื่อง
จนทำให้มีการรับบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแผนก/ฝ่ายต่าง ๆ ทุกคนที่มาทำงานจะมีรายได้
ส่งผลถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้รายได้ที่เกิดขึ้นยังเป็นห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะเมื่อประชาชน
ที่ได้มาทำงานในโครงการมีรายได้ ก็จะมีการจับจ่ายซื้อของ การมีเศรษฐกิจที่ดี เกิดตลาดนัดชุมชน ร้านอาหารเพิ่มขึ้น มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่บริเวณโรงงาน Hand In Hand รือเสาะ และใกล้เคียง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส