วิทยาลัยชุมชนสตูล ริเริ่มโครงการสอนทักษะแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับคนด้อยโอกาสในชุมชน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกของ UNESCO

สตูล การแปรรูปผลิตภัณฑ์

เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยรู้ว่าจังหวัดสตูลคือจังหวัดที่มีพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับโลกอย่าง ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’ ที่ว่าเป็นระดับโลกก็เพราะอุทยานแห่งนี้เป็นเพิ่งได้รับการรับรองจากองค์กร UNESCO ให้เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เมื่อวันที่ 17 เมษายน ปี 2561 ที่ผ่านมานี้เอง

ทางจังหวัดสตูลได้เห็นความสำคัญและโอกาสในการเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางทั้งหลาย จึงได้มีการวางวิสัยทัศน์ของจังหวัดไว้ภายใต้มอตโต้ “เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อุทยานธรณีโลก เศรษฐกิจมั่นคง สังคมน่าอยู่สันติสุขยั่งยืน ประตูสู่อาเซียน”

เมื่อทางจังหวัดได้วางแผนพัฒนาไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีการสนับสนุนด้านท่องเที่ยวในจังหวัดโดยมุ่งเน้นหมุดหมายไว้ที่อุทยานธรณีโลก ทีมของวิทยาลัยชุมชนสตูล ซึ่งเป็นหนึ่งใจหน่วยงานที่ช่วยพัฒนาสนับสนุนงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมให้กับอุทยานธรณีโลกสตูล จึงได้เห็นโอกาสในการ ‘เตรียมความพร้อม’ ชุมชนและประชากรในพื้นที่อำภอใกล้เคียง เพื่อให้พวกเขาสามารถพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการเติบโตไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของจังหวัด

โครงการ ‘การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบโดยใช้ทุนชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล’ จึงได้เกิดขึ้นมาภายใต้จุดประสงค์นี้ โดยมีเป้าหมายเป็นการพัฒนาทักษะและความสามารถในการแปรรูปและต่อยอดผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนจากรากฐานที่เป็นต้นทุนของชุมชนอยู่แล้ว

โครงการนี้จะเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ 4 ชุมชนที่มีการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ 1.ชุมชนเกาะสาหร่าย 2.ชุมชนโคกพยอม 3.ชุมชนคีรีวง และ 4 ชุมชนบ้านทุ่งพัก โดยโครงการจะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 120 คน ซึ่ง ทั้งหมดจะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือทุกคนจะต้องเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

การดำเนินงานของโครงการนี้จะใช้แนวทางพัฒนาแบบที่มีชุมชนเป็นฐาน เพราะฉะนั้นวิทยาลัยชุมชนจะออกแบบแนวทางในการพัฒนาชุมชนทั้ง 4 แห่งแตกต่างกันออกไปดังนี้

1.ชุมชนเกาะสาหร่าย จะมีการฝึกอบรมและสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว เช่น อาหารทะเลแปรรูป การผลิตผ้ามัดย้อม และผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

2.ชุมชนโคกพยอม จะมีการนำหลักสูตรการผลิตผ้ามัดย้อมไปฝึกสอนและจะมีการอบรมด้านการออกแบบของที่ระลึกจากชุมชน เช่น เสื้อ พวงกุญแจ และกระเป๋า เป็นต้น

3.ชุมชนคีรีวง ในส่วนของชุมชนนี้โครงการจะเข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการสร้างผลิตภัณฑ์จากยางพาราออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ก็จะมีการอบรมการออกแบบของที่ระลึกจากชุมชนด้วย เช่น เสื้อ พวงกุญแจ และกระเป๋า เป็นต้น

4.ชุมชนบ้านทุ่งพัก
ชุมชนบ้านทุ่งพักเน้นการนำทุนทางธรรมชาติที่ไม่มีค่ากลับมาสร้างมูลค่าด้วยการใช้กาบหมากขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์จานกาบหมาก ถ้วยกาบหมาก ชามกาบหมาก และอื่นๆ ถือเป็นผลิตภัณฑ์เข้ากับเทรนด์ “ภาชนะรักษ์โลก”

โครงการนี้ถึงแม้จะวางเป้าหมายไว้ในชุมชน 4 แห่งที่อยู่คนละอำเภอกัน ทว่ามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ

สร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการ เพื่อให้พวกเขาสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้อย่างราบรื่น ซึ่งแน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการก็หวังจะได้เห็นการดำเนินงานที่มีคุณภาพ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ เพื่อการสร้างรายได้ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของตัวแรงงานในชุมชนเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบโดยใช้ทุนชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนสตูล

จังหวัด

สตูล

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอุใบ หมัดหมุด
โทร: 089-5951865

เป้าประสงค์โครงการ

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดความรู้ การจัดการความรู้ และการส่งเสริมช่องทางการตลาดเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล ด้วยการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรฝึกอบรม/การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล สามารถนำความรู้ที่ได้รับเป็นเครื่องมือในการประยุกต์ใช้ในการค้นหาทรัพยากรที่เป็นทุนชุมชน พัฒนากระบวนการคิด กระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพทางเคมี บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการตลาด รวมถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนที่นำไปสู่การพึงพาตนเอง สร้างรายได้ พัฒนาตน พัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส