มทร.ศรีวิชัยยื่นเปิดวิชาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อดึงเยาวชนในชุมชนชายฝั่งให้กลับมาเข้าระบบแรงงานอาชีพ

ตรัง เกษตรกรรม

‘จังหวัดตรัง’ เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ผู้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันและเกี่ยวข้องกับท้องทะเล เช่น การทำอาชีพประมง แต่ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นปัญหาที่ชุมชนแถบนี้ต้องเผชิญหน้าโดยตรง ประกอบกับประชากรบางส่วนอาศัยอยู่ห่างออกจากชายฝั่ง ทำให้เยาวชนบางส่วน ขาดโอกาสทางการศึกษา 

จากสถิติที่ผ่านมา เยาวชนที่อาศัยในชุมชนชายฝั่งจำนวนไม่น้อยต้องออกจากระบบการศึกษาเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น การติดเกม การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย รวมไปถึงการติดยาเสพติด 


คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง (มทร. ศรีวิชัย) เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีพันธกิจและประสบการณ์ทำงานกับชุมชนชายฝั่งในจังหวัดตรังมาตั้งแต่ปี 2540 มองเห็น ‘โอกาส’ และ ‘ปัญหา’ ของชุมชนชายฝั่งในแง่มุมที่หลากหลาย จึงต้องการยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเป็นกำลังในการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานราก

โดยให้ความสำคัญกับ ‘ฐานทุน’ ชุมชนอย่าง ‘คนรุ่นใหม่’ ที่จะก้าวมามีบทบาทขับเคลื่อนชุมชนและสังคมในอนาคต จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง’ 

ซึ่ง ดร.นิภาพร ช่วยธานี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เล่าว่า “เยาวชนบางคนว่างงาน บางคนทำอาชีพประมงตามครอบครัว ซึ่งมีรายได้น้อย บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะทางเลือกสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้มีไม่มาก เลยอยากส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รับโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งด้านวิชาการและทักษะอาชีพ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ จึงพุ่งเป้าไปที่เยาวชนอายุระหว่าง 15-30 ปี โดยคัดเลือกจากผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งหมด 60 คน จาก 4 ตำบล ได้แก่ (1) ตำบลเกาะลิบง (2) ตำบลเขาไม้แก้ว (3) ตำบลบ่อหิน และ (4) ตำบลไม้ฝาด 

และจากการสอบถามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก คณะทำงานได้คิดค้นหลักสูตรเสริมความรู้และสร้างทักษะให้กับเยาวชน ออกมา 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอาชีพพื้นฐาน 3 อาชีพ (1) การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น (2) การเพาะเลี้ยงหอยนางรม และ (3) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ (4) การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ และ (5) จรรยาบรรณอาชีพทางการประมงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล เนื่องจากปัญหาเรื่องขยะในทะเลส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

อย่างการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรการสร้างทักษะด้านอาชีพ ดร.นิภาพร ก็อธิบายว่า “เยาวชนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมอุณหภูมิน้ำ การวัดความเค็ม การวัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ แสงแดดในโรงเลี้ยงที่เหมาะสม ไปจนถึงการทำอุปกรณ์สำหรับเพาะเลี้ยง เช่น การทำถาดหรือตะแกรง เป็นต้น” 

แต่เนื่องจากพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ในทำเลที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีข้อจำกัดแตกต่างกันไปด้วย อย่างในกรณีที่หมู่บ้านไหนไม่ติดชายฝั่ง ทางโครงการก็ยินดีสนับสนุนอุปกรณ์ส่วนที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นให้ เช่น บ่อซีเมนต์ หรือแม้กระทั่งการติดตั้งโรงเรือน ซึ่งหลายครั้งต้องขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนให้ช่วยหาพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า การร่วมมือกันในภาคท้องถิ่นเป็น ‘กลไก’ สำคัญที่ทำให้โครงการขับเคลื่อนไปได้ 

และเมื่อเยาวชนมีทักษะด้านการประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และการเพาะเลี้ยงหอยนางรม ตามหลักสูตรของโครงการแล้ว ภาควิชาอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ประมง จาก มทร. ศรีวิชัย ก็จะเข้ามารับบทบาทเป็นแม่งานเสริมความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง ต่อไป ให้เยาวชนสามารถแปรเปลี่ยนผลผลิตเป็นเมนูที่หลากหลาย เช่น สาหร่ายดอง สลัดโรลสาหร่าย นักเก็ตปลา ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ ฮ่อยจ๊อ ซาลาเปาไส้ปลา และน้ำพริกปลาหย็อง  

จากนั้นก็ถึงคราวของหลักสูตรต่อไป นั่นคือการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมี กลุ่มแปรรูปบ้านทุ่งทอง ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย จากตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา โดย ‘ฟาย๊ะ’ ทิพย์รัตน์ จงรักษ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแปรรูปบ้านทุ่งทอง เล่าว่า การรวมกลุ่มมีการลงหุ้นร่วมกันในรอบแรกคนละ 100 บาท เพื่อเป็นต้นทุนสำหรับนำไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ แล้วแบ่งกำไรจากการขายแต่ละครั้งให้สมาชิกในกลุ่ม ทั้งนี้ การทำงานต้องไม่เอาเปรียบกัน เพราะทุกคนช่วยและเหนื่อยเท่ากัน ทุกคนจึงควรได้ผลตอบแทนเท่ากัน

“ทุกวันนี้ แต่ละวันเรามีเป้าหมาย มีการกำหนดตารางชีวิตว่าวันนี้จะทำอะไร จากเดิมที่ทำงานบ้านเสร็จแล้วก็นอนเลย ใช้ชีวิตไปวันๆ ซึ่งตอนนี้กำลังมียอดสั่งเข้ามาเยอะ รายได้ดีมาก ตอนนี้ยังไม่มีแบรนด์ แต่ทางกลุ่มกำลังออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์กันอยู่ แล้วหลังจากนั้นจะเริ่มลงขายทางโซเชียลมีเดีย เพราะการขายออนไลน์มีกลุ่มคนขายสินค้าประเภทเดียวกันหลายกลุ่ม ถ้าเราไม่มีโลโก้ ลูกค้าก็ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นของใคร

ซึ่งความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลพวงจากความร่วมมือและความตั้งใจของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากผู้ใหญ่ในชุมชน ทำให้โครงการนี้ดึงเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้ามาฝึกทักษะอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้สำเร็จ และเปลี่ยนแปลงให้พวกเขากลายเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีทั้งองค์ความรู้ ทักษะอาชีพ และมีจิตสำนึกที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ทุกวันนี้ แต่ละวันเรามีเป้าหมาย มีการกำหนดตารางชีวิตว่าวันนี้จะทำอะไร จากเดิมที่ทำงานบ้านเสร็จแล้วก็นอนเลย ใช้ชีวิตไปวันๆ ซึ่งตอนนี้กำลังมียอดสั่งเข้ามาเยอะ รายได้ดีมาก ตอนนี้ยังไม่มีแบรนด์ แต่ทางกลุ่มกำลังออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์กันอยู่ แล้วหลังจากนั้นจะเริ่มลงขายทางโซเชียลมีเดีย เพราะการขายออนไลน์มีกลุ่มคนขายสินค้าประเภทเดียวกันหลายกลุ่ม ถ้าเราไม่มีโลโก้ ลูกค้าก็ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นของใคร” ‘ฟาย๊ะ’ ทิพย์รัตน์ จงรักษ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแปรรูปบ้านทุ่งทอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง

ชื่อหน่วยงาน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

จังหวัด

ตรัง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: อาจารย์ ดร.นิภาพร ช่วยธานี
โทร: 087-2758849

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐานด้านนักเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง
  2. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
  3. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถสร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และจำหน่ายสร้างตลาดได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส