สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา เปิดหลักสูตรเกษตรอินทรีย์และการย้อมผ้าสีธรรมชาติ สร้างอาชีพให้กับแรงงานด้อยโอกาสในชุมชน

เลย งานหัตถกรรมและฝีมือ

ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ทว่า พวกเขายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายล้อมรอบตัว ทั้งปัญหาเด็กติดเกม การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่อาจนำพาให้พวกเขากลายเป็นประชากรวัยแรงงานที่ด้อยคุณภาพ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในตำบลเอราวัณ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย หนึ่งในพื้นที่ห่างไกลที่ยังคงมีปัญหาเยาวชนวัยแรงงานออกนอกระบบการศึกษาค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีผู้ด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยที่กำลังรอความช่วยเหลือ

สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) องค์กรสาธารณประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงเดินหน้าจัดทำ โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับเยาวชนวัยแรงงานและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)


กิตติพงษ์ ภาษี สมาชิกจากสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา เล่าว่า “ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอเอราวัณ มีเด็กและเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเยาวชนบางส่วนได้เข้ามาร่วมเรียนรู้และเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับทางสถาบันบ้าง จึงมีความคิดอยากจะส่งเสริมเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้” 

ทำให้ กิตติพงษ์ มีแนวคิดอยากพัฒนาอาชีพด้าน ‘เกษตรปลอดภัยและการย้อมผ้าสีธรรมชาติ’ เนื่องจากเป็นอาชีพฐานเดิมของชุมชน โดยตั้งเป้าอบรมให้เยาวชนวัยแรงงานและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จำนวน 50 คน ในพื้นที่ตำบลเอราวัณ

งานดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย คือประเพณีขึ้นชื่อของจังหวัดเลยที่จัดสืบเนื่องมาช้านาน สะท้อนถึงสมัยอดีตว่าพื้นที่แห่งนี้เคยมีดอกฝ้ายขาวบานสะพรั่งไปทั่วจังหวัด แม้ทุกวันนี้ ดอกฝ้ายจะเริ่มเลือนหาย แต่ชาวเลยส่วนใหญ่ยังคงมีวิถีชีวิตผูกพันกับการปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้าย การส่งเสริม ‘การย้อมผ้าสีธรรมชาติ’ จึงเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปสร้างอาชีพและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นฐานเดิมของชุมชนได้ 

“เราเชิญคุณแม่ขวัญตา ผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งเคยอยู่วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพสตรีบ้านพรประเสริฐ มาให้ความรู้พื้นฐานเรื่องสีที่เกิดจากธรรมชาติ การทำน้ำย้อม และกระบวนการย้อมฝ้าย แต่เราจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้พวกเขาเลยว่าเปลือกไม้ชนิดนี้ ได้สีนี้ หรือใบไม้ชนิดนี้ ได้สีนี้ แต่จะสอนกระบวนการค้นคว้าสีแทน เช่น อยากรู้ว่าใบไม้ชนิดนี้ให้สีอะไร ก็ลองตั้งหม้อดูเลย บางทีเปลือกไม้ชนิดเดียวกันสามารถย้อมได้หลายเฉดสีด้วยซ้ำ” กิตติพงษ์เสริม 

ส่วนอีกหนึ่งอาชีพที่โครงการตั้งเป้าที่จะพัฒนา นั่นคือ ‘การทำเกษตรปลอดภัย’ นั้น มีสาเหตุมาจากการที่ทุกวันนี้ พืชผักปลอดภัยจากสารพิษกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกยังปลอดภัยจากสารเคมี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสด้านการจำหน่ายผลผลิตให้เกษตรกรมากขึ้น 

ซึ่ง กิตติพงษ์ เล่าว่า ตอนแรกตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง แต่การที่จะพลิกจากเคมีไปสู่อินทรีย์อย่างเต็มตัวเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา ตอนนี้จึงมุ่งไปที่การทำเกษตรปลอดภัยก่อน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ปรับตัวไป เกษตรกรจะได้มีกำลังใจเปิดรับการเปลี่ยนแปลง 

โดย วิลัยพร พรมราช วัย 51 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย อธิบายว่า เมื่อก่อนเธอก็ทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักหลายชนิดหมุนเวียนกันไป มีทั้งข้าวโพด บวบหอม ผักสลัด ผักหอม และมันแกว เดิมทีปลูกแบบเคมี แต่ระยะหลังเริ่มมาลดการใช้สารเคมี พยายามหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น พอได้มารู้จักโครงการนี้ก็เลยสนใจ เพราะอยากได้ความรู้ใหม่ๆ และอยากมีกลุ่มไว้แลกเปลี่ยนความรู้กัน 

“หลังจากการอบรม ตอนนี้เราก็เริ่มเลี้ยงหมู เพื่อเอาขี้หมูมาทำปุ๋ยใช้เอง ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีกระสอบละ 30 บาท พอหมูโตก็เอาไปขาย มีรายได้เพิ่มอีก แล้วก็เลี้ยงไก่เพิ่ม ได้ไข่วันละ 8-9 ฟอง ขี้ไก่ก็เอามาใช้ประโยชน์ทำปุ๋ยได้เหมือนกัน โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ส่วนมากก็เอามาจากของที่อยู่ในสวน เศษผักก็เอามาให้หมู ให้ไก่กินได้” 

นอกจากกลุ่มเป้าหมายจะมีอาชีพ และผลิตสินค้าได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นต้องขายได้ด้วย ทางโครงการจึงจัดอบรมหลักสูตร ‘การใช้เทคโนโลยีสื่อออนไลน์’ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และสามารถจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งเพจ ‘ฝ้ายทอมือสามเศียรเอราวัณ’ เพจเฟซบุ๊กของสมาชิกกลุ่มย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการขายผ้าฝ้ายของชุมชน 

ในขณะที่สมาชิกกลุ่มเกษตรปลอดภัยก็เริ่มค้าขายผักออนไลน์ ด้วยการใช้เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน ซึ่ง วิลัยพร เสริมว่า การขายสินค้าออนไลน์มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องยุ่งยากในการนำของไปตระเวนขาย “เมื่อก่อนต้องขี่ซาเล้งวิ่งขายไปตามหมู่บ้าน ทั้งเหนื่อย แถมเสียค่าน้ำมันด้วย” 

อย่างไรก็ดี เมื่อโครงการเดินทางมาถึงวันนี้ แม้เป้าหมายบางอย่างอาจยังไม่ได้บรรลุสำเร็จตามที่วางแผนไว้ แต่ กิตติพงษ์ ก็บอกว่า การที่เขาได้เห็นคนในชุมชนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง เท่านี้ เขาก็ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

“การที่โครงการมันเดินมาถึงจุดนี้ได้ เราถือว่าเราพอใจนะ” กิตติพงษ์กล่าว และอธิบายว่า เมื่อชาวบ้านมองเห็นร่วมกันว่าสิ่งที่เราร่วมกันทำนี้ มันจะนำพวกเราก้าวไปถึงจุดไหน และทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีแสงสว่างส่องวาบอยู่ที่ปลายอุโมงค์ร่วมกัน มันก็โอเคแล้ว ส่วนวิธีการในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปอีกที 

อย่างไรก็ดี สำหรับหมุดหมายต่อไป กิตติพงษ์ ตั้งใจว่าจะพยายามดึงเยาวชนในท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำเกษตรและการพัฒนาชุมชนให้มากขึ้น “พอเราทำงานกับผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็จะไม่ค่อยเข้ามา แต่ถ้าหากมีโอกาสได้ทำโครงการต่อไป ถ้าครอบครัวไหนที่มีลูกหลาน เราก็จะชวนมาคุย มาร่วม ให้คนรุ่นใหม่ได้ไปศึกษาดูงาน หรือมาช่วยดูแลการทำสื่อออนไลน์ เพราะว่าพ่อแม่ก็ต้องถ่ายทอดส่งมอบอาชีพให้ลูกหลานต่อไป 

ซึ่งมันก็จะเชื่อมกับงานของสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา ที่อยากให้เยาวชนมีพื้นที่และมีบทบาทในการทำงานกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“เราเชิญคุณแม่ขวัญตา ผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งเคยอยู่วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพสตรีบ้านพรประเสริฐ มาให้ความรู้พื้นฐานเรื่องสีที่เกิดจากธรรมชาติ การทำน้ำย้อม และกระบวนการย้อมฝ้าย แต่เราจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้พวกเขาเลยว่าเปลือกไม้ชนิดนี้ ได้สีนี้ หรือใบไม้ชนิดนี้ ได้สีนี้ แต่จะสอนกระบวนการค้นคว้าสีแทน เช่น อยากรู้ว่าใบไม้ชนิดนี้ให้สีอะไร ก็ลองตั้งหม้อดูเลย บางทีเปลือกไม้ชนิดเดียวกันสามารถย้อมได้หลายเฉดสีด้วยซ้ำ” กิตติพงษ์ ภาษี สมาชิกจากสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับเยาวชนวัยแรงงานและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนท้องถิ่น

ชื่อหน่วยงาน

สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย)

จังหวัด

เลย

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายกิตติพงษ์ ภาษี
โทร: 091-0630540

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของเยาวชนวัยแรงงานและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส