วิสาหกิจชุมชนภูสิบแสน เปิดโครงการฝึกอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ช่วยสร้างรายได้ระหว่างวิกฤติพืชผลราคาตกต่ำ

นครศรีธรรมราช เกษตรกรรม

ความห่างไกลและกันดารของพื้นที่อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านต้องทุกข์ยากจากข้อจำกัดในการประกอบอาชีพแล้ว พืชเศรษฐกิจสำคัญที่ปลูกได้ในพื้นที่ เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ยังเผชิญปัญหาราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมให้เกษตรกรเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แม้ชุมชนจะมีแหล่งทรัพยากรและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำการเกษตรก็ตาม

วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรอินทรีย์ภูสิบแสน (ต้นแบบ) ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ต้องการสร้างรายได้ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่มานาน ได้เล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมอาชีพให้แก่แรงงานนอกระบบในพื้นที่ จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับแรงงานนอกระบบ” โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตร และหาทางออกในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำผ่านการนำผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรอินทรีย์ภูสิบแสน จึงเริ่มต้นออกแบบหลักสูตรอบรมจากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการสำรวจต้นทุนของชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จนได้ออกมาเป็น 4 หลักสูตรตามสาขาอาชีพ คือ 

  1. การเลี้ยงผึ้งโพรง 
  2. การเพาะเลี้ยงเห็ดแครงและแปรรูปเห็ดอบแห้งหรือน้ำพริก 
  3. การแปรรูปสินค้าจากมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าว ยาหม่อง ยาสระผม
  4. การแปรรูปกล้วย

โดยแต่ละหลักสูตรนั้นมีความสอดคล้องกับทรัพยากรท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ตำบลเขาพระมีมะพร้าวบนเขาเยอะ ส่วนฝั่งที่ติดกับตำบลพิปูนจะปลูกกล้วยหินนำมาแปรรูปได้ หรือตำบลยางค้อมมีสวนผลไม้ก็เหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง

หลังจากออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย ทางโครงการฯ ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ก่อนจะเริ่มต้นจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงภาพรวมและแผนการดำเนินงานเพื่อให้เห็นภาพและสร้างเป้าหมายร่วมกัน จากนั้นจึงอบรมเติมความรู้ทักษะอาชีพทั้ง 4 หลักสูตร ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 50 คน 

ประไพพรรณ มะลิวัลย์ ประธานกลุ่มการแปรรูปกล้วย เล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้กลุ่มนำกล้วยมาแปรรูปทำครองแครงกรอบกับแป้งกล้วยก่อน ซึ่งทางโครงการฯ เปิดโอกาสให้บริหารจัดการกันเอง จนตอนนี้เริ่มสร้างรายได้ได้แล้ว โดยกลุ่มได้มีการตั้งร้านขายที่บ้าน ขายในร้านค้าชุมชน ครองแครงกรอบขายกระปุกละ 35 บาท ขาย 3 กระปุก 100บาท ส่วนแป้งกล้วยจะใส่ถุงซิป มีหลายขนาด มีทั้งถุงละ 50, 100 และ 200 บาท ทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ได้มาเข้าร่วมโครงการฯ เพราะนอกจะทำให้มีอาชีพ แล้วก็ทำกินเองได้ ไม่ต้องซื้อ ลดรายจ่าย 

ตลอดการดำเนินงานและการจัดอบรมนั้น ทางโครงการฯ ได้ใช้หลักการเปิดกว้าง รับฟัง พยายามเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิด มีส่วนร่วมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกกระบวนการทำงาน รวมถึงการฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง กล่าวคือเมื่อก่อนหากในพื้นที่มีหน่วยงานมาอบรมเรื่องการทำสบู่ พออบรมเสร็จ ผู้เข้าร่วมอบรมได้ของไปใช้ ดีใจ จบแค่นั้น แต่สำหรับโครงการฯ นี้ กลุ่มเป้าหมายต้องรู้แหล่งซื้อวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ แหล่งออกแบบโลโก้ รู้แหล่งที่จะขาย หรือเรียกว่าสามารถเดินจากต้นทางสู่ปลายทาง ให้ครบจบกระบวนการได้เองทั้งหมด จนสามารถก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ทั้ง 4 กลุ่ม และเป้าหมายสุดท้ายอันได้แก่ การยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่การเป็นสินค้า OTOP 

อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการลุกขึ้นมาหยิบต้นทุนชุมชน อย่างสินค้าทางการเกษตรและของใกล้ตัวมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมก็เริ่มนำเอาทักษะไปใช้สร้างรายได้เสริม แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความสำเร็จของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ในชุมชนเริ่มคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปของตัวเอง เพราะการเริ่มต้นพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาคส่วนใด ย่อมเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด โดยหน่วยพัฒนาอาชีพฯ จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้คำแนะนำแก่กลุ่มคนที่ขาดโอกาส เพื่อที่พวกเขาได้เกิดกระบวนการคิดและมีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะทำให้ตัวเขาเองและชุมชนมีความแข็งแรงขึ้นได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อสร้างรายได้

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรอินทรีย์ภูสิบแสน (ต้นแบบ)

จังหวัด

นครศรีธรรมราช

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางนพมาศ พรหมศิลป์
โทร: 089-089-4019

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภา

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส