ทวงคืนบัลลังก์ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะเปิดโครงการแบ่งปันความรู้การดูแลส้มจุกให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

สงขลา เกษตรกรรม

สำหรับคนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เคยมีคำกล่าวกันว่า ‘บ้านอิฐสร้างมากับส้มจุก’ ซึ่งหมายความว่า บ้านของคนทั่วไปมักสร้างด้วยไม้ และมุงหลังคาด้วยจาก แต่สำหรับคนปลูกและค้าขายส้มจุก มักจะมีฐานะดี จึงสามารถสร้างบ้านด้วยอิฐและมุงหลังคาด้วยกระเบื้องได้ เนื่องจากส้มจุกเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอจะนะ โดยเฉพาะตำบลแค ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปลูกส้มจุกที่มีรสชาติและคุณสมบัติเฉพาะถิ่น 

แต่เมื่อมีการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยางพารา ก็ค่อยๆ ทำให้การปลูกส้มจุกลดน้อยลง ประกอบกับการเริ่มใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ทำให้การปลูกส้มจุกได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง จนในที่สุด ตำบลแคจึงเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกส้มจุก เพียง 20 ราย 

และเมื่อราคาผลผลิตจากยางพาราตกต่ำ ประกอบกับปัญหามลภาวะและความเสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีทำการเกษตร ผนวกรวมกับปัญหาสังคมและยาเสพติด อีกทั้งยังมีปัญหาความแตกแยกจากความคิดเห็นทางการเมืองเข้ามารุมเร้า ชุมชนบ้านแคเหนือ ตำบลแค จึงต้องการรวมพลังคนในชุมชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

อะหมัด หลีขาหรี แกนนำคนหนึ่งจากชุมชนบ้านแคเหนือ เล่าว่า ช่วงปี 2553 เกิดความขัดแย้งในชุมชนจากปัญหาการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง คนในชุมชนแบ่งฝ่ายไม่พูดคุย ไม่ร่วมกิจกรรมกัน จึงเกิดการริเริ่มโครงการสานเสวนาลดความขัดแย้ง ด้วยการเชิญทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน องค์กรชุมชน และผู้นำทางศาสนา เข้ามาคุยกัน


ซึ่งทุกฝ่ายล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือการร่วมใจกันแก้ปัญหาในทุกด้าน ด้วยการทำให้คนในชุมชนมีความสามัคคีกันมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ด้วย จึงเกิดเป็น โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุก ชุมชนบ้านแคเหนือ ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดย อะหมัด เสริมว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ (1) ให้มีคณะทำงานเกิดขึ้นในตำบลเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย และเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มพัฒนาอาชีพ (2) สร้างทักษะอาชีพและโอกาสในการทำงานให้กับกลุ่มเป้าหมาย และ (3) จัดหาปัจจัยและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จำนวน 50 คน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ก็คือการตอบสนองความต้องการของชุมชน ยิ่งเป็นโครงการที่ต้องการสร้างเครือข่ายและขยายความร่วมมือ จึงต้องอาศัยความต้องการชุมชนเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่ง อาหมัด หนิเหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแค เล่าว่า ส้มจุกเป็นพืชผลที่มีต้นกำเนิดมาจากที่นี่ เป็นตัวสร้างรายได้ เป็นสินค้าที่มีน้อย แต่ความต้องการตลาดสูง การปลูกและดูแลก็ไม่ง่ายถ้าไม่มีความชำนาญ แต่ชุมชนตำบลแคมีพื้นที่เหมาะสม และมีต้นทุนความรู้จากผู้อาวุโส ซึ่งเป็นภูมิความรู้ที่หาไม่ได้ที่ไหนอีก จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

เมื่อสร้างกลไกการจัดการและได้กลุ่มเป้าหมายเรียบร้อย ขั้นตอนสำคัญต่อไปก็คือกระบวนการดำเนินงาน โดยกิจกรรมหลักคือการอบรมทักษะอาชีพ 2 หลักสูตร ได้แก่ การขยายพันธุ์ส้มจุก และการดูแลสวนส้มจุก “คนที่ขยายพันธุ์อาจมีต้นอยู่ที่บ้าน จบหลักสูตรสามารถไปขยายพันธุ์เอง ตอนกิ่งเองได้เลย ขณะที่บางคน ไม่มีสวน ไม่มีที่ดิน แต่มีความรู้และความสามารถเป็นผู้ดูแลสวน ก็ให้ใช้ความรู้ด้านนี้ประกอบอาชีพแทน” อะหมัด กล่าว

ทว่า นอกจากกระบวนการทำงานจะมีความท้าทายพอสมควรแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทายไม่แพ้กันสำหรับการดำเนินโครงการนี้ก็คือ การเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากส้มจุกขายได้ปริมาณมาก มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ แต่ข้อจำกัดที่ประสบอยู่ ณ ตอนนี้ก็คือไม่มีของ “ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้มันมีของเข้าไปอยู่ในตลาดให้ได้” อะหมัด เสริม

และเมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลง กระบวนการต่อไปก็คือการติดตามและประเมินผลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่าหลายคนนำความรู้กลับไปทำจริง และยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอะหมัดอธิบายว่า กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ จะถูกดึงตัวให้มาเป็นแกนนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าอบรมในปีที่ 2 

“โดยในโครงการใหม่ที่จะเริ่มขึ้นนี้ เราต้องการขยายพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า เราจะต้องขยายเครือข่ายตามไปด้วย เราต้องการเจอเจ้าของสวนใหม่ๆ เจอปราชญ์ชาวบ้าน จะได้มีองค์ความรู้เพิ่ม ได้เครือข่ายเพิ่ม ได้สวนเพิ่ม ซึ่งมันจะกลายเป็นฐานอาชีพให้คนในชุมชน โดยในปีที่ 2 เราจะเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็น 5 ตำบล ก่อนที่จะขยายไปทั้งอำเภอ 

ซึ่งเมื่อเราสามารถยกระดับส้มจุกให้กลับมาขึ้นชื่ออีกครั้งหนึ่งได้ เราก็อาจนำโครงการนี้ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้วิถีการทำสวนส้มของเบตง ที่เขาทำกันเป็นอาชีพ ว่ามีการจัดการเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ยกระดับเครือข่ายขึ้นไปเรื่อยๆ”

ด้าน มาริหยาม มะหะหมัดวงศ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เธอนำความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ไปขยายพันธ์ุต้นส้มจุกโดยการตอนกิ่ง “จากที่เมื่อก่อนทำไม่เป็น เมื่อเข้าร่วมโครงการก็ได้รู้หลักการ ว่าการตอนกิ่งต้องทำแบบไหน ทำอย่างไร เลยขยายพันธุ์ไปได้เกือบ 200 ต้น จนมีกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ มาติดต่อขอซื้อ แต่เราคิดว่าจะเก็บไว้ปลูกเองก่อน โดยปลูกผสมผสานกับทุเรียน ยึดหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านตรัสว่าอย่าปลูกพืชชั้นเดียว

นอกจากแผนการขยายเครือข่ายการปลูกส้มจุกให้ครอบคลุมทั้งอำเภอจะนะแล้ว โครงการยังคิดที่จะพัฒนาการปลูกส้มจุกให้เป็นผลไม้เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และท่องเที่ยวอีกด้วย 

ทั้งนี้ ผลจากการรื้อฟื้นการปลูกส้มจุกขึ้นมา สามารถช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย เพราะการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ซึ่งเมื่อสภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและยาเสพติดก็ลดลงด้วยเช่นกัน 

ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ‘ฐานชุมชน’ นั้นสำคัญต่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาเพียงใด เพราะต่อให้มีเงินทุนเข้ามาสนับสนุนมากมาย แต่ถ้าขาดความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือกันค้นหาว่าอะไรคือปัญหา และควรแก้ไขหรือพัฒนาอย่างไร ผลสำเร็จต่างๆ เหล่านี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

“ซึ่งเมื่อเราสามารถยกระดับส้มจุกให้กลับมาขึ้นชื่ออีกครั้งหนึ่งได้ เราก็อาจนำโครงการนี้ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้วิถีการทำสวนส้มของเบตง ที่เขาทำกันเป็นอาชีพ ว่ามีการจัดการเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ยกระดับเครือข่ายขึ้นไปเรื่อยๆ” อะหมัด หลีขาหรี แกนนำคนหนึ่งจากชุมชนบ้านแคเหนือ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุกชุมชนบ้านแคเหนือ ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ

จังหวัด

สงขลา

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอะหมัด หลีขาหรี
โทร: 089-2957981

เป้าประสงค์โครงการ

ประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้และทักษะในการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุก มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปใช้ในการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุก เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส