วิทยาลัยชุมชนสตูล ริเริ่มโครงการสอนทักษะแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับคนด้อยโอกาสในชุมชน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกของ UNESCO

สตูล การแปรรูปผลิตภัณฑ์

ชุมชนรอบ ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’ ถูกเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับการดำเนินโครงการช่วยเหลือชุมชนของวิทยาลัยชุมชนสตูล ซึ่งอุทยานแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ประชาชนศึกษาเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ซึ่งเต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตยุคเก่าที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน 

นอกจากคุณค่าและความสำคัญที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษาแล้ว ปัจจุบันอุทยานยังมีเป้าหมายยกระดับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จึงเกิดเป็นโครงการการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบ โดยใช้ทุนชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูขึ้น 

อาจารย์อุใบ หมัดหมุด ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า “โครงการนี้มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หากชุมชนอยากมีรายได้ ก็ต้องไปดูว่าในพื้นที่นั้นมีต้นทุนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทุนทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงทุนที่เป็นความรู้ ทักษะ และความชำนาญที่สั่งสมผ่านประสบการณ์ของคนในชุมชน แทนการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าจากภายนอก ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 120 คน จากพื้นที่ 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล (กลุ่มผลิตภัณฑ์และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน) และชุมชนบ้านทุ่งพัก อำเภอควนกาหลง (กลุ่มผลิตภัณฑ์)

โครงการจะเข้ามาต่อยอดด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากทรัพยากรในท้องถิ่น โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน (1) คือการเสริมความรู้ด้วยการจัดอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปอาหารทะเล (2) คือปรับปรุงโรงเรือนการผลิตที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) และเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการเก็บรักษา และ (3) มองหาช่องทางการตลาด เพื่อยกระดับของฝากในชุมชนให้เกิดการยอมรับมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ของโครงการไม่ได้มีเพียงอาหารทะเล เช่น ปลากุเลาเค็มและปลาอินทรีเค็ม แต่ยังมีการนำเอาอาหารทะเลมาทำรูปแบบอื่น เช่น น้ำพริกหอยหวาน น้ำพริกปลาจัดจ้าน น้ำพริกกุ้งสามรส อีกทั้งยังพัฒนาของหวานไปพร้อมๆ กัน เช่น ขนมโกยเปต หรือรู้จักกันในชื่อขนมทองพับ ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองของจังหวัดสตูล ให้กลายเป็นขนมที่ถูกปากคนทุกวัย โดยเพิ่มกลิ่นชาไทย ใบเตย และโกโก้เข้าไป จากเดิมที่มีเพียงกลิ่นเดียว และร่วมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำแก่ผู้บริโภค ภายใต้แบรนด์ ‘ชาวเกาะ’

ซึ่งอาจารย์อุใบเสริมว่า “ในอนาคต ตั้งใจจะเปิดช่องทางการตลาดให้มากขึ้นกว่านี้ ด้วยการทำเพจและจัดอบรมเรื่องไอที จากนั้นจึงชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่าน Shopee หรือ Lazada เพราะอยากให้เขามีโอกาสขายสินค้ามากขึ้น” 

ทั้งนี้ ในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นทุนดั้งเดิมของชุมชนนั้น โครงการได้เข้าไปเป็นตัวกลาง เชื่อมประสานงานระหว่างภาคีเครือข่ายกับวิทยาลัยชุมชนสตูล รวมถึงเข้าไปบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซาเล้งนำเที่ยว เรือนำเที่ยว กลุ่มที่พัก กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มเยาวชน เป็นต้น ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดี และส่งเสริมให้แบรนด์ ‘ชาวเกาะ’ ประสบความสำเร็จอีกด้วย

นอกจากผลิตภัณฑ์ด้านอาหารแล้ว โครงการยังขยายขอบเขตไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งประดิษฐ์จากวัสดุที่มีอยู่ในชุมชน นั่นคือผลิตภัณฑ์จากกาบหมาก โดยจะเริ่มต้นกระบวนการทำงานตั้งแต่การอบรมทักษะการสร้างผลิตภัณฑ์ ในเรื่องเทคนิคต่างๆ เช่น เทคนิคการสาน หรือการต่อกาบหมาก เป็นต้น ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ จากนั้นจึงค่อยต่อยอดสู่การตลาดและการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ ไปถึงการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์

คมเดช ศรีประสม ประธานกลุ่มกาบหมากบ้านทุ่งพัก หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าถึงปัญหาเคยประสบก่อนเข้าร่วมโครงการว่า แต่ก่อน องค์ความรู้ด้านการสานกาบหมากเป็นสิ่งที่ทำต่อๆ กันมา ไม่ได้มีแบบแผนที่ชัดเจน ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน สานแล้วแตกหักหมด แต่เมื่อได้อบรมกับทางโครงการ ก็ทำให้รู้เลยว่า สิ่งที่เคยทำกันมาไม่มีความเป็นมาตรฐานเลย ซึ่งตอนนี้ คมเดชเชี่ยวชาญเทคนิคการสาน การต่อกาบหมาก และการออกแบบผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ จากกาบหมากมากขึ้น ไม่มีปัญหาจากการขึ้นรูปแล้วกาบหมากแตกหรือฉีกขาดเหมือนเคย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากกาบหมากของชุมชนถูกผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์ ‘เตาะหมาก กาหลง’ ซึ่งมีที่มาจากการรวมกันระหว่างคำว่า ‘เตาะหมาก’ คำที่ใช้เรียกกาบหมากในภาษาถิ่น และชื่ออำเภอ ‘ควนกาหลง’ ที่ตั้งของชุมชนบ้านทุ่งพัก ผสานกับการเล่าเรื่องสินค้าภายในชุมชนสู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับผู้บริโภค 

สำหรับด้านรายได้ กลุ่มเป้าหมายจะได้รับค่าแรงเป็นรายวัน วันละ 300 บาท โดยแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ จากค่าแรงไว้เป็นค่าบำรุงสาธารณประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มเป้าหมายได้รับยอดสั่งซื้ออาหารทะเลแปรรูป ปลาเค็มปลอดสารพิษ ขนมโกยเปรต และผลิตภัณฑ์จากกาบหมากเกือบทุกวัน ผ่านช่องทางการขายทั้งแบบออฟไลน์ เช่น การวางจำหน่ายหน้าร้านค้า และออนไลน์ เช่น เพจมาตาฮารี เป็นต้น ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบ โดยใช้ทุนชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ทำให้เห็นแล้วว่า การใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างรู้คุณค่า ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากเงินแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาก็คือ ความพยายามในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ภายในชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์ความรู้นี้จะกลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาอาชีพ และช่วยเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อัตลักษณ์ของชุมชนในรูปแบบนี้ จะเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนอุทยานธรณีโลกสตูลต่อไป ตามเป้าหมายที่โครงการได้คาดหวังไว้

โครงการนี้มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หากชุมชนอยากมีรายได้ ก็ต้องไปดูว่าในพื้นที่นั้นมีต้นทุนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทุนทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงทุนที่เป็นความรู้ ทักษะ และความชำนาญที่สั่งสมผ่านประสบการณ์ของคนในชุมชน แทนการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าจากภายนอกอาจารย์อุใบ หมัดหมุด ผู้รับผิดชอบโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบโดยใช้ทุนชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนสตูล

จังหวัด

สตูล

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอุใบ หมัดหมุด
โทร: 089-5951865

เป้าประสงค์โครงการ

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดความรู้ การจัดการความรู้ และการส่งเสริมช่องทางการตลาดเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล ด้วยการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรฝึกอบรม/การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล สามารถนำความรู้ที่ได้รับเป็นเครื่องมือในการประยุกต์ใช้ในการค้นหาทรัพยากรที่เป็นทุนชุมชน พัฒนากระบวนการคิด กระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพทางเคมี บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการตลาด รวมถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนที่นำไปสู่การพึงพาตนเอง สร้างรายได้ พัฒนาตน พัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส