ชุมชนบ้านเลาวูเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกและแปรรูปกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งมีประชากรรวมกันราวๆ 535 คน แต่จากคนจำนวนนี้ มีไม่มากนักที่สำเร็จการศึกษาระดับสูง เนื่องจากประชากรยังขาดโอกาสและทุนทรัพย์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะการไม่มีพื้นฐานภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับคนภายนอกได้อย่างคล่องแคล่ว ความด้อยโอกาสทางการศึกษานับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน เพราะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ประชากรไม่สามารถออกไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ได้

ด้วยเหตุนี้วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติลีซูจึงได้มีแผนในการเข้าไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายในชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวลีซู โดยเริ่มจากการเข้าไปสำรวจชุมชนและรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งสมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่หาเลี้ยงชีพจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงมีผู้ที่ปลูกกาแฟขาย ทว่ายังขาดความรู้และทักษะในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟแบบครอบวงจร โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตฯ จึงได้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะด้านธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจรให้กับกลุ่มสมาชิก

โครงการพัฒนาฯ พบว่าชุมชนบ้านเลาวูมีต้นทุนเดิมอย่างพื้นที่เกษตรกรรมและสวนกาแฟที่ชาวบ้านทำมาอยู่แล้ว หลักสูตรของโครงการจึงเป็นการฝึกฝนอบรมและต่อยอดทักษะด้านธุรกิจกาแฟ ตั้งแต่การปลูก การแปรรูปจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการเตรียมกาแฟก่อนชง เช่น การคั่วในระดับต่างๆ การบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ การรักษาคุณภาพกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการฝึกสอนเรื่องการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนผลิตกาแฟ เช่น การทำชาจากเปลือกเมล็ดกาแฟและยอดอ่อนใบกาแฟ ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลังจากผ่านการอบรมมาระยะหนึ่งแล้ว โครงการก็ได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมาย โดยพบว่ากลุ่มสมาชิกมีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นตามความคาดหวังของโครงการ มองเห็นโอกาสทางอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นจากต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน มีการเพิ่มฐานการตลาดของผลิตภัณฑ์กาแฟ มีแนวคิดใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ นับว่าโครงการสามารถจุดประกายให้สมาชิกทั้ง 150 คน มีช่องทางในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับการต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยชุมชนบ้านเลาวูแห่งนี้

ความก้าวหน้าที่กล่าวมาทั้งหมดนับว่าเป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดภาคีเครือข่ายต่างๆ และทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทีมงาน CMYSF (Chiangmai Young smart farmer) ที่ร่วมกันออกแบบกิจกรรมในการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยโดยการส่งเสริมพัฒนากาเเฟครบวงจรบ้านเลาวู

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล
โทร: 063-9844777

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้และมีอาชีพเพิ่มขึ้นจากการแปรรูปกาแฟ
  2. กลุ่มเป้าเหมายแบ่งกาแฟเชอร์รี่ส่วนหนึ่งมาแปรรูปเป็นกาแฟกะลา และกาแฟสาร
  3. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแปรรูปกาแฟตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง และบริษัทที่ทำกาแฟ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส