ศูนย์เรียนรู้โจ๊ะมาโลลือหล่าเปิดห้องเรียนการทำร้านค้าออนไลน์ เติมทักษะให้นักเรียนสามารถหารายได้เข้าสู่ชุมชน

เชียงใหม่ การพัฒนาหลักสูตร/อบรม

โครงการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า ของศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า คือโครงการพัฒนาที่ช่วยฝึกฝนกลุ่มสมาชิกในโครงการให้มีองค์ความรู้ด้านการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าของชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ตัวผมเองได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสมาชิกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้พบว่าช่วงเวลาแรกเริ่มที่โครงการค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา มีรายละเอียดมากมายที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องของความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในกลุ่มสมาชิก ปัญหาและอุปสรรคที่ได้ฝ่าฟัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์หากได้บันทึกข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้พอสังเขป

เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่เป็นสมาชิกโครงการประกอบไปด้วยผู้คนจาก 3 ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงคือ 1.ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า 2.ศูนย์การเรียนมอวาคี และ 3.ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาว ซึ่งแต่ละคนล้วนอยู่ในเกณฑ์ของผู้ด้อยโอกาสด้วยกันทั้งสิ้น เพราะสมาชิกโครงการนี้ประกอบไปด้วยผู้ว่างงาน39 คน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 6 คน และนักเรียนของศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า 15 คน

ถึงแม้ชื่อโครงการจะเป็นเรื่องการพัฒนาการตลาดออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องบังคับให้ทุกคนมาเรียนทำเว็บไซต์ ถ่ายรูป หรือสร้างคอนเทนต์ เพราะทุกคนมีความถนัดและความชอบไม่เหมือนกัน เมื่อเราทั้ง 60 คน ได้เข้ามาอยู่ในโครงการแล้ว ทางโครงการจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และแบ่งกลุ่มตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคนเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ผลิต ซึ่งสนใจงานทอผ้า งานเกษตร และงานช่าง มีจำนวน 23 คน 2.กลุ่มออกแบบ ซึ่งสนใจงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน มีจำนวน 4 คน 3.กลุ่มบริหารจัดการ ซึ่งสนใจการค้าขายและต้องการมีธุรกิจส่วนตัว มีจำนวน 27 คน 4.กลุ่มสื่อสารถ่ายทอด ซึ่งสนใจการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา และการเป็นไกด์ หรือผู้ผลิตสื่อ จำนวน 6 คน

ตัวผมเองนั้นได้รับการจัดกลุ่มอยู่ในหมวดของการสื่อสารถ่ายทอด เพราะเป้าหมายผมคือการทำตลาดออนไลน์ ผมจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ และการทำเว็บไซต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน จะเขียนเรื่องอย่างไร จะใช้ภาพแบบไหน ใช้โทนสีหรือกราฟิกแบบไหนคนถึงจะสนใจ เป็นความรู้ใหม่ของผมว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังมากในการสื่อสารและดึงดูดให้คนสนใจสินค้า โดยเฉพาะการสร้างคอนเทนต์ที่ดีช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชนได้ดีทีเดียว

เมื่อโครงการได้รับทราบถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนแล้ว ทำให้โครงการสามารถออกแบบการเรียนรู้ตามความสนใจของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลลัพธ์ก็ได้สะท้อนออกมาในความก้าวหน้าของโครงการในด้านต่างๆ ซึ่งผมขอสรุปออกมาคร่าวๆ เป็น 7 ข้อต่อไปนี้
  1. เกิดฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับการพัฒนาการประกอบการของศูนย์การเรียนชุมชน เช่น ข้อมูลภูมิปัญญาการย้อมผ้าสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ การทำไร่หมุนเวียน และชุดความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าต้นน้ำ
  2. เกิดรูปแบบแนวทางการสร้างระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ที่เหมาะสมกับบริบทของศูนย์การเรียนคือ แอปฯ JOAIDEE และเฟซบุ๊กเพจ JOAIDEE
  3. มีการสร้างแบรนด์โลโก้ของกลุ่มโดยเยาวชนในโครงการได้มีโอกาสในการออกแบบร่วมกัน
  4. เริ่มทดสอบการใช้งานร้านค้าออนไลน์ของศูนย์ผ่านแอปฯ และเพจ JOAIDEE โดยมีการเก็บบันทึกผลลัพธ์เพื่อการใช้ในครั้งต่อๆ ไป
  5. มีการจัดทำฐานข้อมูลของศูนย์การเรียนและฐานข้อมูลสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด
  6. สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้และฝึกทักษะการใช้งานเครื่องมือออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการทำงานผ่านระบบร้านค้าที่สร้างขึ้น เช่นการใช้งาน Email, Facebook group, Google drive และ Zoom meeting รวมถึงมีการจัดการร้านค้าแบบออฟไลน์เพื่อจัดเก็บสต็อกสินค้า
  7. เกิดเครือข่ายร้านค้าออนไลน์ของศูนย์ฯ ที่มีแกนนำของทั้ง 3 พื้นที่เข้าร่วมการใช้งานภายใต้แบรนด์ JOAIDEE เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้แม้จะมีด้านการพัฒนาที่น่าพึงพอใจ แต่ระหว่างการดำเนินโครงการ ผมก็ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านระยะทางที่พี่ๆ และเพื่อนๆ บางคนอยู่ห่างไกลจากศูนย์พอสมควร ทางโครงการจึงต้องจัดหางบมาช่วยเหลือด้านการเดินทางให้กับสมาชิกส่วนนี้ นอกจากนี้สมาชิกโครงการทั้ง 60 คน มีความหลากหลายด้านภาษาเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่แต่ละคนก็มักจะใช้ภาษาในท้องถิ่นของตัวเองทำให้บางครั้งอาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจได้ ทางโครงการเลยต้องแก้ปัญหาโดยการจัดกิจกรรมที่มีความยืนหยุ่นสูง เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

แน่นอนว่าการจะปลุกปั้นอะไรขึ้นมาสักอย่าง ย่อมต้องมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเราสมาชิกทั้ง 60 คนมีความเชื่อมั่นในศูนย์ฯ โจ๊ะมาโลลือหล่าก็คือ ความเอาจริงเอาจังและความต้องการที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ผมและเพื่อนพี่น้องพร้อมใจกันมุ่งมั่นพัฒนาทักษะตัวเอง เพื่อที่วันหนึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้มากขึ้น รวมถึงสามารถส่งต่อความรู้นี้ให้กับสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์
โทร: 081-6483264

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพให้กับเยาวชนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส