ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา เปิดคอร์สสอนทักษะอาชีพหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยดึงศักยภาพของแรงงานด้อยโอกาสให้นำออกมาใช้อย่างเต็มที่
มนุษย์ทุกคนต่างมีศักยภาพในแบบของตัวเอง แต่กลับไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถดึงเอาศักยภาพนั้นออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการขาดโอกาสในการเรียนรู้ ขาดคำแนะนำ ขาดเวลา หรือ ขาดต้นทุนที่จะฝึกฝนจนชำนาญ
ด้วยเหตุนี้พื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมา ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่แหล่งเรียนรู้ส่วนใหญ่เหล่านั้นมักจะต้องมี ‘ค่าใช้จ่าย’ ในการเข้าไปเป็นหนึ่งในนักเรียน ทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมากนัก ต้องเสียโอกาสทางการศึกษาหรือการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย
ด้วยกลไกแบบนี้ทำให้จำเป็นจะต้องมีแหล่งเรียนรู้เพื่อสังคม ที่จะสามารถมอบโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกฝน ศึกษา ให้กับคนทุกคนได้อย่างเสมอภาค ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา จังหวัดนครราชสีมา คือหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่ว่านั้น ศูนย์ฝึกแห่งนี้ได้เปิดอบรมทักษะให้กับเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีพ่อจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์ชาวบ้าน ที่เคยได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2554 เป็นผู้นำในการดำเนินงาน
ตลอดหลายปีที่ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพาได้ดำเนินงานมา พวกเขาพบว่ามีกลุ่มวัยแรงงานจำนวนมากในพื้นที่ของชุมชน เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส อย่างเช่น คนขาดแคลนทุนทรัพย์ คนพิการ คนสูงอายุ คนว่างงาน ซึ่งคนเหล่านี้ แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยศักยภาพมากมายที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง และชุมชนรอบข้างได้
จากเหตุผลข้างต้นศูนย์ฝึกบ้านโนนรัง-บูรพา จึึงได้ริเริ่ม ‘โครงการเสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน’ ขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยโครงการนี้จะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายมา 50 คนจาก 2 ตำบล คือตำบลตลาดไทร และตำบลโนนตูม ซึ่งคนที่สามารถเข้าร่วมโครงการจะต้องมีหนึ่งในคุณสมบัติดังนี้ 1.เป็นแรงงานนอกระบบ 2.เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.เป็นผู้สูงอายุ 4.เป็นคนพิการ
เมื่อได้สมาชิกมาแล้วก็จะเป็นขั้นตอนของการพัฒนาทักษะ ซึ่งโครงการนี้มีความหลากหลายด้านองค์ความรู้อย่างมาก เพราะมีการสอนอบรมให้กับสมาชิกในการเลือกเรียนหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น 1.อาชีพการขยายพันธุ์ผักหวานป่า 2.อาชีพการเพาะปลูกกล้วย 3.อาชีพการเพาะขยายพันธุ์ปลา 4.อาชีพการเลี้ยงไก่อินทรีย์ 5.อาชีพการเพาะปลูกสมุนไพร เป็นต้น
ทุกการเรียนรู้ของแต่ละสาขาอาชีพ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนตั้งแต่ความรู้ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งหมายความว่าเมื่อจบโครงการแล้ว สมาชิกทั้ง 50 คนจะมีความสามารถในสาขาอาชีพนั้นๆ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นการบูรณาการ และสุดท้ายคือขั้นตอนการขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง
โครงการเสริมสร้างทักษะฯ นี้ของศูนย์ฝึกบ้านโนนรัง-บูรพา จึงเป็นเหมือนมือที่ยื่นให้กับคนในชุมชนและช่วยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาอย่างเต็มที่ เพราะท้ายที่สุดแล้วศักยภาพเหล่านั้นคือต้นทุนที่แท้จริง ที่จะช่วยสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับพวกเขาอย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
เสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส ให้มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นทีม
- เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยเน้นการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
- เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ว่างงาน