วิทยาลัยชุมชนตากจัดทำโครงการพัฒนาแรงงาน 3 วิชาชีพ ช่วยลดคนว่างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 3 อำเภอ
จังหวัดตากเป็นจังหวัดกำลังพัฒนาที่มีความพิเศษคือ มี 3 อำเภอใหญ่ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ’ ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด โดยในพื้นที่ทั้งสามแห่งนี้ รัฐจะมีการมอบสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในจังหวัด นอกจากนี้ฝั่งของรัฐเองก็จะมีแผนงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อยกระดับพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาทั้งหลายจึงพยายามเดินไปในทิศทางเดียวกัน คือสร้างแผนการพัฒนาในรูปแบบที่ตัวเองถนัด วิทยาลัยชุมชนตาก เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและฝึกทักษะอาชีพ ที่ทำงานกับประชากรวัยแรงงานที่ขาดทุนทรัพย์และเป็นผู้ด้อยโอกาส จึงได้มุ่งวางแผนพัฒนาทักษะทางอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในชุมชน
วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการด้านทักษะของกลุ่มคนด้อยโอกาสในพื้นที่ และได้นำเอาข้อสรุปมาจัดทำเป็น ‘โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น’ ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน
กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้คือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเครือข่ายการผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 คน
โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเปิดเป็นห้องเรียนสำหรับพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานใน3 วิชาชีพ คือ 1.อาชีพช่างเชื่อมโลหะ 2.อาชีพการนวดไทยเพื่อสุขภาพ 3.การแปรรูปผลิตภัณฑ์ของของใช้จากผ้าปากะยอ
โดยแต่ละแผนพัฒนาทักษะ จะมีการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือจะฝึกฝนอบรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของอาชีพ จากนั้นก็จะพัฒนาไปสู่การประยุกต์หรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยวิธีต่างๆ จนจบที่ความรู้ด้านการตลาดที่จะเป็นประโยชน์ในด้านการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีชั่วโมงอบรมด้านทัศนคติเพื่อส่งเสริมแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนอีกด้วย เช่น การทำบัญชีครัวเครือน การออม การจัดการหนี้สิน และการวางแผนชีวิต
หลังจากโครงการสิ้นสุดลง สมาชิกราว 100 คนที่ได้ผ่านการฝึกทักษะจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปปฏิบัติจริง เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองต่อไป แต่เหนือไปว่านั้น หากมองในภาพกว้างของสังคม โครงการนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับปัจเจกแล้ว ยังเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของอำเภอด้วย เพราะเป็นการใช้โอกาสทางเศรษฐกิจนี้มาพัฒนาแรงงานฝีมือให้มีคุณภาพมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการว่างงาน ลดความไม่เท่าเทียมกันในชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน
- ผลลัพธ์ ผู้รับการอบรมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมีความความรู้ทักษะฝีมือแรงงานยกระดับฝีมือที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- ผลกระทบ ครอบครัวผู้รับการอบรมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น