กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านแดง ดึงกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสในชุมชนมาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากก แก้ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน

อุบลราชธานี งานหัตถกรรมและฝีมือ

หากพูดถึงตำบลบ้านแเดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี  ของดีระดับประเทศที่เลื่องชื่อลือชาของตำบลนี้ก็คือ ‘เสื่อกก’ เสื่อกกของบ้านแดงนั้นเป็น Otop ระดับท็อปของจังหวัด ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนจนมีอยู่มีกินและสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้

ก่อนการกลายมาเป็นสินค้า Otop ยอดนิยม ชาวตำบลบ้านแดงไม่ได้ทอเสื่อกกกันอย่างจริงจังและกว้างขวางเท่าในวันนี้ ในอดีตคนในพื้นที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาและทำไร่เป็นหลักและสานเสื่อเป็นอาชีพเสริม ทว่าภายหลังจากปี 2555 ที่สินค้า Otop ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาล เสื่อกกก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นกอบเป็นกำ จนชาวบ้านหันมาทอเสื่อกกกันเป็นอาชีพหลักและทำนาทำไร่เป็นอาชีพเสริมแทน

แต่ในยุคปัจจุบันปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้รายได้ที่มาจากการทอเสื่อกกและทำนาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘พัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี’ ขึ้นมา โดยมีแนวคิดมาจากการเล็งเห็น ‘ต้นทุน’ ของชุมชนอย่างผลิตภัณฑ์เสื่อกก ที่สามารถนำมา ‘ต่อยอด’ เพื่อสร้างมูลค่ามากขึ้นได้

แม้ทุกวันนี้ชาวบ้านตำบลบ้านแดงจะสามารถจำหน่ายสื่อกกจากชุมชนได้เป็นจำนวนมาก แต่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะสมบูรณ์แบบจนไม่มีพื้นที่ให้กับการพัฒนา เสื่อกกแบบดั้งเดิมของชาวบ้านมีข้อจำกัดด้านการใช้งานอยู่บ้าง โดยเฉพาะการใช้งานในหน้าฝนที่มักจะเกิดปัญหาเชื้อราบนตัวเสื่อ ซึ่งโครงการของคณะกรรมการฯ นี้จะช่วยเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีข้อจำกัดที่น้อยลง เพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า อีกทั้งยังช่วยรวมกลุ่มผู้ผลิตเสื่อกกให้เป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรงและสามัคคี

โครงการพัฒนาอาชีพนี้จะดำเนินงานในพื้นที่ของ 3 หมู่บ้าน โดยจะมีการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่น แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 150 คน

เนื้อหาหลักที่โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนากลุ่มผู้ทอกก คือการอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสื่อกกให้มีความทนทาน คงทน และสวยงาม โดยจะมีวิทยากรเข้ามาช่วยอบรมฝึกฝนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ในช่วงท้ายของโครงการจะมีกิจกรรมทัศนศึกษาที่จะพาเหล่าสมาชิกไปดูงานการทอกกและผลิตผลิตภัณฑ์จากกกในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมและความหลากหลายของตลาด

การจัดทำโครงการของคณะกรรมการฯ นี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน เพราะด้วยความแข็งแร่งด้านการทอเสื่อกกซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนของชุมชน เมื่อนำมาผนวกกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็จะทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ภายใต้กำลังการผลิตเท่าเดิม ส่งผลต่อมาเป็นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ชุมชนกำลังประสบอยู่ได้ด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ชื่อหน่วยงาน

คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง

จังหวัด

อุบลราชธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสีดา พิทักษา
โทร: 080-0010168

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง เกิดความรัก ความสามัคคี ในหมู่คณะ
  2. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น
  3. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง มีงาน มีเงิน สามารถอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส