มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร มุ่งพัฒนาแกนนำชุมชนให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ

พิจิตร อื่น ๆ

สำนักงานสถิติแห่งชาติให้คำนิยาม ‘แรงงานนอกระบบ’ ว่าหมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ โดยในระบบหลักประกันสุขภาพ แรงงานนอกระบบครอบคลุมบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่มีสิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ และสิทธิประกันสังคม

สำหรับจังหวัดพิจิตร ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรและสมาคมพัฒนาชุมชนยั่งยืน ร่วมกับสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลภายในจังหวัด พบว่า แรงงานนอกระบบทั้งหมดประกอบอาชีพภาคการเกษตร โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา นอกจากนั้นแล้ว แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ ทั้งจากการทำงานกลางแดดอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกับเครื่องจักร การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือการทำงานที่ต้องสัมผัสสิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง เช่น สารเคมี เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยมีสาเหตุเกิดจากท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้กำลังแบกหามหรือการออกท่าทางฝืนธรรมชาติ อย่างการยกของ หรือก้ม ๆ เงย ๆ เป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลให้พวกเขาต้องประสบปัญหาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แม้ว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงานอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ใช้อุปกรณ์บางอย่างไม่ครบตามที่ควรจะเป็น เช่น ผ้าปิดปากหรือปิดจมูก ถุงมือยาง หมวก รองเท้าบูตหรือรองเท้าหุ้มส้น ก็ตาม

จึงเป็นสาเหตุให้ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ต้องการเข้ามามีบทบาทสำคัญด้านการค้นคว้า ศึกษา วิจัย และจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เป็นสังคมที่มีสุขภาวะ และผลักดันให้เกิดเป็น “โครงการเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบและฐานข้อมูล สู่การสร้างสุขภาวะแรงงานนอกระบบจังหวัดพิจิตร (เฟส 1)” ขึ้น

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแกนนำชุมชนและแรงงานนอกระบบจำนวน 80 คน จากพื้นที่ในอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร จำนวน 16 ตำบล ได้แก่ ตำบลในเมือง ตำบลท่าหลวง ตำบลไผ่ขวาง ตำบลบ้านบุ่ง ตำบลบ้านยาว ตำบลฆะมัง ตำบลท่าฬ่อ ตำบลดงป่าคำ ตำบลปากทาง ตำบลหัวดง ตำบลคลองคะเชนทร์ ตำบลป่ามะคาบ ตำบลโรงช้าง ตำบลสายคำโห้ ตำบลเมืองเก่า และตำบลดงกลาง

โครงการนี้จัดเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 ซึ่งจะมีการอบรมกลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะการจัดทำฐานข้อมูลฯ  โดยหลังจากผ่านการอบรมแล้วก็จะมีการส่งกลุ่มเป้าหมายลงพื้นที่ลงไปสำรวจชุมชนของตน และจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากรแรงงานนอกระบบเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่อไป เป็นต้น

ฐานข้อมูลที่จะจัดทำในโครงการนี้ คณะทำงานจะเลือกใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนพัฒนาขึ้น จะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณสำหรับการพัฒนาโปรแกรมขึ้นใหม่

หน่วยพัฒนาฯ มองว่าาการจะดำเนินโครงการดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นที่หลากหลาย อาทิ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบจังหวัดพิจิตร สำนักงานแรงงานจังหวัดพิจิตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ทั้งนี้ หากโครงการในระยะที่ 1 สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้คณะทำงานมีกลุ่มบุคลากรที่มีทักษะในการจัดเก็บข้อมูล และ ฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปต่อยอดเพื่อคิดแผนพัฒนาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของชุมชนต่อไปในอนาคต

หากโครงการในระยะที่ 1 สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้คณะทำงานมีฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปต่อยอดเพื่อคิดแผนพัฒนาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของชุมชนต่อไปในอนาคต

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบและฐานข้อมูล สู่การสร้างสุขภาวะแรงงานนอกระบบจังหวัดพิจิตร (เฟส 1)

ชื่อหน่วยงาน

มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จังหวัดพิจิตร

จังหวัด

พิจิตร

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาววรารัตน์ หมวกยอด
โทร: 080-0936070

เป้าประสงค์โครงการ

  1. แกนนำชุมชนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีความสามารถในการใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล   
  2. แกนนำแรงงานนอกระบบในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และการจ้างงาน จำนวน 80 คน (16 ตำบล ตำบลละ 5 คน )
  3. มีฐานข้อมูลความเสี่ยงทางสุขภาพและความรอบรู้ทางสุขภาพครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนในเขตอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร (จำนวน 25 ชุมชน, 159 หมู่บ้าน)
  4. แกนนำชุมชนและแกนนำแรงงานนอกระบบ ได้รับการพัฒนาความรอบรู้ทางสุขภาพ 

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส