ถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งโฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม ด้วยนวัตกรรมเหง้ามันสำปะหลัง จากภูมิปัญญาชาวคำแคน จังหวัดขอนแก่น

ขอนแก่น อื่น ๆ

สิ่งของบางอย่าง หากเราสามารถพลิกมุมมองเกี่ยวกับมันได้ เราจะเห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นช่องทางพัฒนาต่อยอดสิ่งของเหล่านั้นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับข้าวของเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ที่คนในยุคสมัยนี้ต่างช่วยกันรณรงค์ให้เห็นคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ขยะก็สามารถเป็นปุ๋ย ขวดพลาสติกสามารถเป็นกระถางหรือเครื่องใช้ต่อได้ การทำเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเราประหยัดไปในตัวอีกด้วย

แนวคิดการต่อยอดของเหลือใช้ ไม่ได้เพียงแต่ ‘เวิร์ก’ กับคนเมืองเท่านั้น แต่ยังดีงามสำหรับคนอาชีพอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นอาชีพเกษตรกร เป็นต้น ในตำบลคำแคน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร โดยมักจะนิยมปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเป็นหลัก ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆ ปีในชุมชนแห่งนี้คือมีปริมาณขยะอย่างใบอ้อยและเหง้ามันสำปะหลังจำนวนมากหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งโดยปกติเกษตรกรจะใช้วิธีการเผาทำลายในการจัดการวัสดุเจ้าปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อมาเป็นสร้างปัญหาหมอกควันที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ หน่วยงานในชุมชนจึงร่วมมือกันหาทางออก โดยในปี 2560 องค์การบริหารส่วนตำบลคำแคน  วิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดทำโครงการถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งด้วยการนำ ใบอ้อย และเหง้ามันสำปะหลัง มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปเป็นถ่านชีวภาพ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งสำหรับการหุงต้ม แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เช่นเรื่องความชื้นเป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการทำให้แห้งนั้นประสบปัญหาจากสภาพอากาศฝนตกและฝุ่นที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตร ซึ่งไม่สามารถทำให้ถ่านแห้งสนิทและเกิดเชื้อรา จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลายเป็นปัญหาในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนในเวลานั้น

ด้วยเหตุนี้ วิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน จึงได้ริเริ่มโครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่านชีวภาพจากเหง้ามันสำปะหลังเพื่อเข้าสู่ธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนพออินคำแคนด้วยนวัตกรรมชุมชน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตถ่านชีวภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถ่านดังนี้ 

ถ่านหุงต้มและถ่านดูดกลิ่นชีวภาพ – ปรับปรุงขั้นตอนการผลิตภัณฑ์ถ่าน จากการทำให้แห้งด้วยแสงจากธรรมชาติพัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพของถ่านและยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตได้อีกด้วย โดยบริษัท ปทต. ได้มีการให้ความรู้รูปแบบของโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์กับชุมชนจนเกิดเป็นนวัตกรรมร่วมกัน

ปุ๋ยหมักจากถ่านชีวภาพ – จากการร่วมมือระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  ทำให้ค้นพบว่าถ่านชีวภาพเหง้ามันสำปะหลังสามารถเป็นส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เพราะมีปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมในการเกษตร จึงเกิดการนำมาพัฒนาร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่สูตรเดิมใช้กากตะกอนมูลหมูเพียงอย่างเดียวจึงทำให้เกิดยกระดับมูลค่าของปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชน 

เครื่องสำอางจากถ่านชีวภาพเหง้ามัน – นอกจากถ่านจะมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเกษตร ถ่านยังมีคุณสมบัติในการดูดสารพิษและพื้นผิวของถ่านยังเหมาะสมในการขจัดสิ่งสกปรกโดยไม่สร้างความระคายเคืองต่อผิวหนังมนุษย์ ที่สำคัญยังผลิตในระบบชีวภาพ จึงเหมาะสมในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทางชุมชนได้รับความช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในการพัฒนาถ่านชีวภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากชุมชน

  นอกจากการผลิตและการแปรรูปถ่านชีวภาพที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการอบรมแล้ว ทางวิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน ยังได้มีการอบรม เรื่อง ‘การทำธุรกิจสู่การตลาด’ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการมีช่องทางการจำหน่ายสินค้า มีวิธีการสร้างอัตลักษณ์ในกับสินค้า นอกจากนี้ยังได้มีการติดต่อกับภาคีเครือข่ายทั้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)    และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สำหรับการนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนไปวางจำหน่ายในหน่วยงานเป็นช่องทางเบื้องต้นในการขาย

หากการดำเนินงานสามารถสำเร็จลุล่วงไปตามแผนงาน วิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน ประเมินผลลัพธ์ไว้ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% ทางชุมชนจะมีผลิตภัณฑ์แปรรูปถ่านชีวภาพมากกว่า 3 ชนิด ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจ้างงานภายในชุมชนมากขึ้น และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ล้วนมีจากจุดเริ่มต้นจากวัสดุเหลือใช้ไร้ประโยชน์จากการปลุกมันสำปะหลังและอ้อย 

แนวคิดการต่อยอดของเหลือใช้ ไม่ได้เพียงแต่ ‘เวิร์ก’ กับคนเมืองเท่านั้น แต่ยังดีงามสำหรับคนอาชีพอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นอาชีพเกษตรกร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่านชีวภาพจากเหง้ามันสำปะหลังเพื่อเข้าสู่ธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนพออินคำแคนด้วยนวัตกรรมชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน จังหวัด ขอนแก่น

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: จ.ส.อ.ยุทธนา ปัญญาศิริ
โทร: 08-1392-1207

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดผลิตภัณฑ์จากนวตกรรมชุมชนที่นำมาทำถ่านชีวภาพมากกว่า 3 ชนิด
  2. เกิดอาชีพใหม่
  3. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น 10%
  4. คุณภาพของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น ได้มาตรฐานตามความต้องการ
  5. คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น เมื่อเกิดจากการจ้างงานภายในชุมชน ทำให้ชีวิตมีความสุข

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส