เกษตรกรชาวหนองแสงเตรียมยกระดับปรับตัวเป็นเกษตรวิถีใหม่พร้อมเข้าสู่สังคม New Normal สู้วิกฤติ โควิด-19
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะอยู่กับมนุษยชาติไปอีกพักใหญ่ ซ้ำร้ายผลกระทบของวิกฤติการแพร่ระบาดดังกล่าวยังได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเราทุกคนโดยฉับพลัน ประเทศไทยเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงานหรือศักยภาพการผลิตภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด 19
ชาวบ้านตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สืบเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา เมื่อไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ดั่งเดิม ทำให้พวกเขาประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีรายได้ที่ลดลงแต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม เช่นเดียวกันกับกลุ่มชาวบ้านที่เดินทางออกไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ ก็มีการไหลคืนกลับสู่ท้องถิ่นเพื่อลดค่าครองชีพในเมือง เมื่อพวกเขาบางคนประสบปัญหาว่างงาน กลายเป็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมี “แรงงานคืนถิ่นที่ว่างงาน” และ “แรงงานด้อยโอกาสในพื้นที่” เพิ่มมากขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาและเตรียมความพร้อมให้ชาวบ้านตำบลหนองแสงรับมือและก้าวเดินต่อไปในอนาคตที่ต่างจากเดิม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันทางวิชาการจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะของการทำการเกษตรแนวใหม่แบบครบวงจรให้กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการบูรณาการศาสตร์พื้นบ้านเข้ากับความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่าน “โครงการการยกระดับอาชีพเกษตรกรผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นชาวนาพึ่งพาตนเองได้ในวิถีความปกติใหม่ ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม”
สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ ในเบื้องต้น ทางหน่วยพัฒนาอาชีพได้วิเคราะห์ต้นทุนของชุมชนและสำรวจความต้องการของชาวนาในชุมชนและพบว่า ในตำบลมีศูนย์เมล็ดพันธุ์ของตำบลเป็นรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่สำคัญเอาไว้ ได้แก่ ข้าวเจ้าพันธุ์ ทับทิมชุมแพ มะลิแดง หอมนิล หอมใบเตย ข้าวเหนียวพันธุ์ ข้าวก่ำดอ ข้าวก่ำน้อย ข้าวดอยวน ข้าวลายดอกโสน ข้าวหอมดอ ข้าวฮ้าว และก่ำใหญ่ ซึ่งเป็นข้าวที่เคยใช้ปลูกได้ผลดีในอดีต รวมถึงมีปราชญ์ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการคัดเมล็ดพันธุ์และการปลูกข้าวพื้นถิ่นอยู่ในชุมชน
จากการที่ชาวบ้านหนองแสงมีความรู้และทักษะในการทำนาสูง มีศูนย์เมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและยกระดับมูลค่าผลผลิตทางเกษตรท่างกลางสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มชุมชนจึงตกลงร่วมใจกันที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากการทำนาแบบบอกต่อ คือมีการใช้สารเคมีเข้มข้นและขาดการวางแผนการผลิต มาเป็นการทำการเกษตรแนวใหม่ ที่ผสมผสานความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และลดการพึ่งพาสารเคมี
โครงการฯ จึงได้วางแนวทางสนับสนุนทางด้านการสร้างทักษะและองค์ความรู้สำหรับการทำเกษตรแนวใหม่ให้กับชุมชน โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพและคุณภาพของดิน การวิเคราะห์สารเคมีในดิน การเตรียมดินสำหรับการปลูกข้าว การทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและไล่แมลงศัตรูข้าว การคัดเลือกเมล็ดพันธ์ข้าว การหว่านกล้า การถอนกล้า การดำนา การให้ปุ๋ย การคัดข้าวปน การเก็บเกี่ยวข้าว การวัดมาตรฐานพันธ์ข้าว การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว และปัจจัยอื่น ๆ ในการผลิต การวิเคราะห์การตลาด โดยมีกลุ่มหน่วยพัฒนาอาชีพอย่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือตลอดทั้งโครงการฯ
เรียกได้ว่าโครงการฯ นั้นมุ่งเน้นไปที่การยกระดับรายได้และการลดต้นทุนการผลิตด้วยองค์ความรู้ใหม่ ๆ และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานภาคการเกษตร รวมถึงกลุ่มคนที่ ‘คืนถิ่น’ ให้สามารถกลับมาสร้างรายได้ในบ้านเกิดและสร้างความยั่งยืนบนวิถีความปกติใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ท่างกลางสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนได้ตกลงร่วมใจกันที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากการทำนาแบบบอกต่อ คือการใช้สารเคมีเข้มข้น และขาดการวางแผนการผลิต มาเป็นการทำการเกษตรแนวใหม่ ที่ผสมผสานความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยี
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การยกระดับอาชีพเกษตรกรผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นชาวนาพึ่งพาตนเองได้ในวิถีความปกติใหม่ (new normal) ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เพื่อพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นชาวนาพึ่งพาตนเองได้ในวิถีความปกติใหม่ (new normal)
- เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและทักษะการเป็นชาวนาพึ่งพาตนเองได้ในวิถีความปกติใหม่ (new normal)
- เพื่อยกระดับรายได้ให้กับชาวนา ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
การดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คณะทำงานให้ความสำคัญกับการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการตลาด ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น