โรงพยาบาลบ้านไผ่ จัดสอนการขายสินค้าออนไลน์ เพิ่มช่องทางขายสินค้าอินทรีย์ให้คนในชุมชนโคกสำราญ

ขอนแก่น เกษตรกรรม

ในช่วงปีที่ผ่านมาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่หรือพืชสวน อย่าง ข้าว ผักใบเขียว ผักสลัด มังคุด ทุเรียน ลำไย ฯลฯ ซึ่งสำหรับประเทศไทยมียอดสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศเองและการส่งออก เรียกได้ว่าเป็นขาขึ้นของเกษตรกรที่มุ่งมั่นทำอินทรีย์มาโดยตลาด ทว่าในบางพื้นที่กลับยังไม่สามารถคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้ได้ เช่น ที่ชุมชนบ้านโคกสำราญที่กำลังประสบปัญหาในการจัดจำหน่ายพืชผลอินทรีย์อยู่ในขณะนี้

ชุมชนบ้านโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ติดแก่งละหว้าซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตภัยแล้งซ้ำซากจึงทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการทำนาตลอดทั้งปี ดังนั้นเกษตรกรบางส่วนจึงเปลี่ยนมาปลูกผักที่ใช้ปริมาณน้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้ทดแทน เช่น กระหล่ำปลี ผักกาดหอม พริก ฯลฯ โดยนำผลผลิตที่ได้ไปขายในพื้นที่ชุมชน แต่ต้องประสบกับปัญหาสินค้าล้นตลาด จึงทำให้ไม่สามารถขายผักได้ตามที่หวังไว้ ทำให้เกษตรกรบางส่วนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

จากการลงพื้นที่สำรวจของโรงพยาบาลบ้านไผ่พบว่า ส่วนหนึ่งที่รายได้จากการขายผักไม่เพียงพอ เกิดจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และวิกฤตภัยแล้งที่ทำให้ต้นทุนในผลิตสูง รวมถึงข้อจำกัดทางเทคโนโลยี จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถเปิดช่องทางจำหน่ายผ่านโลกออนไลน์ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วตลาดยังมีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่สูง

โรงพยาบาลบ้านไผ่ ได้เห็นถึงปัญหาของชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงจัดตั้งโครงการ “การพัฒนาและการยกระดับสินค้าผักอินทรีย์สู่ตลาดออนไลน์ของกลุ่มชุมชนบ้านโคกสำราญ ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น” ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สินค้าให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านโคกสำราญ เพื่อสร้างเสริมทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบไปด้วยแม่บ้าน 30 คน เกษตรกร 20 คน ผู้ว่างงาน 30 คน และผู้สูงอายุ 30 คน รวมทั้งสิ้น 100 คน ทั้งนี้ยังมีบุตรหลานของกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมอบรมเพิ่มเติมอีก 20 คนด้วย

หลังสูตรที่โครงการได้นำมาใช้ จะเน้นการสร้างทักษะ 3 ด้าน ได้แก่

  1. ทักษะอาชีพและการประกอบการ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้การเป็นผู้ประการ เรียนรู้ทักษะในการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด เพื่อการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตนเองทำด้วย
  2. ทักษะด้านการสื่อสาร ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะในการออกแบบสื่อออนไลน์และบรรจุภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการอบรมที่เน้นปฏิบัติโดยจะมีการฝึกสอนตั้งแต่การค้นหากลุ่มเป้าหมาย การศึกษาพฤติกรรม การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการเขียนคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับลูกค้าด้วยนอกจากนี้หลักสูตรยังสอดแทรกเนื้อหาการออกแบบตราสินค้าชุมชนและออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ของชุมชนเอง
  3. ทักษะด้านการบริหารจัดการเงิน ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการต้นทุน โดยการวิเคราะห์ความคุ้มทุนและความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวิธีในการจัดการโลจิสติกส์และคลังสินค้า เพื่อการดำเนินงานในโลกออนไลน์

ตลอดกระบวนการทั้ง 3 ด้าน โครงการจะมีการถอดบทเรียนและชุดความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอยู่เป็นระยะ เพื่อเก็บเกี่ยวปัญหาและองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการฝึกฝนอบรม

ในอนาคต หากสำเร็จลุล่วงตามแผนที่ได้วางไว้ ผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 100 คนและบุตรหลานซึ่งล้วนเป็นผู้ด้อยโอกาสที่ประสบวิกฤติอยู่ จะมีความสามารถในการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ สามารถสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีอัตลักษณ์ของแบรนด์สินค้าตัวเอง สร้างความแตกต่างจากสินค้าของผู้ขายรายอื่น 

ทักษะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นทักษะแห่งยุคสมัยที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีช่องทางการขายพืชผักอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังต่อยอดไปทำการตลาดออนไลน์ให้กับสินค้าประเภทอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นโครงการที่ไม่ใช่แค่พัฒนาทักษะการขายสินค้าทางการเกษตร แต่เป็นการสร้างฐานความรู้ที่สำคัญในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันด้วย

ตลอดกระบวนการ โครงการจะมีการถอดบทเรียนและชุดความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอยู่เป็นระยะ เพื่อเก็บเกี่ยวปัญหาและองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการฝึกฝนอบรม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาและการยกระดับสินค้าผักอินทรีย์สู่ตลาดออนไลน์ของกลุ่มชุมชนบ้านโคกสำราญ ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น

ชื่อหน่วยงาน

โรงพยาบาลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางทิพเนตร ดลเพ็ญ
โทร: 093-321-8664

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ชุมชนบ้านโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น สามารถทำการตลาดออนไลน์ และมีช่องทางการขายของผักอินทรีย์เพิ่มขึ้น
  2. ชุมชนบ้านโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มีบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าผักอินทรีย์ที่เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าและการทำตลาดออนไลน์
  3. ชุมชนบ้านโคกสำราญอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เข้าใจแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจและการทำตลาดออนไลน์และนำสู่การดำเนินการและประกอบอาชีพการปลูกผักอินทรีย์ขายได้อย่างครบวงจรมากขึ้น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส