ชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลยจัดอบรมทักษะการทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มโอกาสทางอาชีพให้กับคนพิการ

เลย เกษตรกรรม อื่น ๆ

“87.96 % ของคนพิการวัยแรงงานที่อยู่ในจังหวัดเลยมีงานทำ โดยส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกร” คือข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่แสดงให้เห็นถึงกลไกลที่มีประสิทธิภาพในการทำงานด้านคนพิการในจังหวัดเลย โดยมีการเชื่อมต่อประสานกันหลายหน่วยงานทั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด  ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด  ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเป็นรูปธรรม 

จากการร่วมมือของทุกหน่วยงานก่อให้เกิดการแจกจ่ายสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง เช่นเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท กองทุนกู้ยืมประกอบอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการรายละ 40,000 – 60,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งได้รับการแจกจ่ายอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี สำหรับการยกระดับชีวิตของคนพิการในระยะยาวนั้นยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายโดยเฉพาะในโครงการอาชีพคนพิการที่จัดหางานที่เหมาะสมให้กับคนพิการ

โดยจากการศึกษาของชมรมเพื่อคนพิการ จังหวัดเลย พบว่า ยังมีคนพิการจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าร่วมกับทางโครงการด้วยหลายปัจจัย เช่น บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการไม่มากพอจึงทำให้คนพิการหลายคนไม่ได้รับโอกาส ข้อจำกัดในเรื่อง ความสามารถ อายุ เพศ การศึกษา เงื่อนไขเวลา สถานที่ ทำให้คนพิการในพื้นที่จังหวัดเลยขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ  

จากปัญหาข้างต้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลย ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพยกระดับเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนคนพิการ จังหวัดเลย” โดยมีเป้าหมายคือ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการ ต่อยอดจากการประกอบอาชีพเดิมคือการเกษตร พร้อมส่งเสริมทักษะในการทำเกษตรอินทรีย์เน้นการลดใช้สารเคมี การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยผักพื้นบ้านและสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพ มีรายที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  

หลังจากมีการสำรวจ สอบถาม และค้นคว้าข้อมูลร่วมกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ทางโครงการฯ จึงได้เลือกกลุ่มเป้าหมายจำนวน  50  คน  ประกอบด้วย คนพิการจำนวน  30  คนและผู้ดูแลคนพิการจำนวน  20  คน ก่อนจะเริ่มออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะอย่างเป็นระบบ โดยได้แบ่งออกเป็นการอบรมความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และสารชีวภาพ และ การอบรมเชิงปฏิบัติการแปลงสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ เช่น การเตรียมดิน การทำปุ๋ยหมัก และการทำสารชีวภาพ เป็นต้น จากนั้นจึงเป็นการอบรมแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และสุดท้ายคือ การอบรมการจัดการ การตลาดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการจัดทำบัญชีเบื้องต้น จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โครงการฯ มุ่งเน้นและใส่ใจในแต่ละหลักสูตร ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการทำเกษตร

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทั้งในด้านองค์ความรู้และการประกอบกิจกรรมจากหลายองค์กรทั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล เกษตรระดับอำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย และปราชญ์ชาวบ้าน 

เมื่อโครงการสิ้นสุดลงทางชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลยประเมินว่า ร้อยละ  80 ของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการมีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำการการตลาด และการจัดทำบัญชีเบื้องต้นนำมาสู่การสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดทำมีการวางแผนที่จะติดตามและสร้างการเชื่อมโยงความรู้กับหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายชุมชน  ร่วมกันในการทำงานพัฒนาอาชีพคนพิการต่อไป 

เป้าหมายคือสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการ ต่อยอดจากการประกอบอาชีพเดิมคือการเกษตร เพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพ มีรายที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพยกระดับเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนคนพิการ จังหวัดเลย

ชื่อหน่วยงาน

ชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลย

จังหวัด

เลย

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางมะโนลา พึ่งอำนวย
โทร: 089-5408459

เป้าประสงค์โครงการ

คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ ต่อคนพิการและความพิการ และมีทักษะ สามารถทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การตลาด เพิ่มมูลค่าของสินค้า  เกิดผลิตภัณฑ์ของคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ ระดับตำบล เพื่อเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน  และเกิดกลุ่ม “เพื่อนช่วยเพื่อน”  ในลักษณะเครือข่ายกลุ่มคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ  เพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เป็นที่ยอมรับของชุมชน เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส